ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองตลาดรถยนต์ปี 64 อาจทะลุ 8.5 แสนคันกรณีไม่มีล็อกดาวน์อีกรอบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดตลาดรถยนต์ปี 64 อาจทะลุ 8.5 แสนคันกรณีไม่มีล็อกดาวน์อีกรอบ ผลจากมาตรการรัฐที่ตรงจุด คาดกระตุ้นตลาดรถ xEV สูงเกิน 5.5 หมื่นคัน
9 ธ.ค. 63 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในปี 2563 ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เว้นแม้ไทย ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คาดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2563 นี้ น่าจะมีโอกาสแตะระดับ 770,000 คัน หรือหดตัวสูงถึงกว่าร้อยละ 23.6
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2564 หากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายประเมินและภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดึงมาตรการล็อกดาวน์มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะขยายตัวได้กว่าร้อยละ 7 ถึง 11 คิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นสู่ตัวเลข 825,000 ถึง 855,000 คัน
ในปี 2564 ยอดขายรถยนต์กลุ่ม HEV และ PHEV น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ถึง 23 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17 คิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน ขณะที่รถยนต์ BEV น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 – 5,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 176 ถึง 245 ขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 102 คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน อย่างไรก็ตาม หากมาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอสามารถดึงการลงทุนเข้ามาปีหน้าได้มากและภาครัฐมีการออกมาตรการส่งเสริมตลาดเข้ามาเพิ่มเติมที่เน้นสนับสนุนรถยนต์กลุ่ม xEV ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดได้
เข้าปี 2563 ไม่นาน ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่แม้ปัจจุบันจะ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ในระดับดี แต่ผลกระทบที่ตามมาต่อระบบเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพิง ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากนั้น ทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของคนในประเทศหดหาย ยังผลต่อเนื่องไปสู่ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัวลงตลอดทั้งปี แม้จะเริ่มส่งสัญญาณการกลับสู่ภาวะปกติมาก ขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีก็ตาม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2563 นี้น่าจะมีโอกาสแตะระดับ 770,000 คัน หรือหดตัวกว่าร้อยละ 23.6 จากปี 2562 ที่ขายได้ 1,007,552 คัน ซึ่งก็หดตัวเช่นกัน กว่าร้อยละ 3.3 จากปี 2561
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง เมื่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับในปีหน้ามีแนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยจะมีโอกาสได้รับ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะกลายมาเป็นปัจจัยช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย เมื่อการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าขายระหว่าง ประเทศกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งแม้จะยังไม่กลับสู่ระดับปกติ โดยปัจจัยเหล่าผนวกกับการออกแคมเปญแข่งขันกันของค่ายรถ จึงมีผลโดยตรงต่อทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะขยายตัวได้กว่าร้อย ละ 7 ถึง 11 คิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น สู่ตัวเลข 825,000 ถึง 855,000 คัน อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บน สมมติฐานที่ว่าภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดึงมาตรการล็อกดาวน์มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก ครั้งในปีหน้า ซึ่งในปี 2564 นี้คาดว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ซึ่งประกอบด้วยรถยนต์ ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด
หลังโควิด-19 ตลาดรถยนต์ไทยเริ่มมุ่งสู่กลุ่ม xEV มากขึ้นตามตลาดโลก มาตรการรัฐอาจเป็นอีกแรงส่งสำคัญ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแนวโน้มการเข้าสู่ยุคแห่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับตลาดโลก แม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากไทยยังนับเป็นตลาดเกิดใหม่ของกลุ่มรถยนต์ xEV แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพตลาด รถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศที่แม้จะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอย่างชัดเจนจากทางภาครัฐเข้ามา จะมีก็เพียงแต่มาตรการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทอื่นแล้ว ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศกลับเติบโตรุดหน้าสวนทางตลาด เนื่องจากผู้บริโภคหลักเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2564 ถ้าการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ยอดขายรถยนต์ กลุ่มนี้ในไทยน่าจะยิ่งเร่งตัวขึ้น หลังการเข้ามาแข่งขันของค่ายรถที่ทวีความดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์หลายรุ่น กลุ่ม xEV เริ่มเข้ามารุกตลาดกลุ่มราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดการณ์ยอดขายของรถยนต์แต่ละประเภทในปีหน้ามีรายละเอียดดังนี้
สำหรับหรับรถยนต์กลุ่ม HEV และ PHEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ค่ายรถจะเริ่มดันให้รถยนต์รุ่น HEV และ PHEV กลายมาเป็นโมเดลมาตรฐานของแต่ละค่ายรถมากขึ้น ซึ่งจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนยอดขายรถยนต์ ในกลุ่มนี้ปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ถึง 23 ขยายตัว ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17 คิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน
สำหรับรถยนต์ BEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้มีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาบุกตลาดของ รถยนต์ BEV สัญชาติจีนได้รับการส่งเสริมการลงทนุ จากบีโอไอ และยังได้สิทธิ์ภาษีนำเข้า ร้อยละ 0 ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-จีน ทำให้สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงแรกได้ด้วยระดับราคาไม่สูงนักก่อนจะผลิตเพื่อทำตลาดในประเทศในอนาคต
ขณะที่ค่ายรถหรูยุโรปที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็จะเริ่มรุกตลาดรถยนต์ BEV ในปีนี้เช่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสจะขยายตัวได้สูง แต่ตัวเลขยอดขายอาจจะยังไม่สูงนักเนื่องจากยังเป็นตลาด niche อยู่ โดยน่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 ถึง 5,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 176 ถึง 245 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าจะ ขยายตัวร้อยละ 102 คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาด BEV ในอนาคต คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดซึ่งมีกำลังซื้อพร้อมแต่ยังขาดความมั่นใจใน เรื่องของการวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง เมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ BEV ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งอยู่
อย่างไรก็ตาม จำนวนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV ที่คาดการณ์ในไทยดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่างจากการพิจารณาโครงการลงทุนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และจากที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอื่นใดออกมา ซึ่งคาดว่าหากมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการเน้นกลยุทธ์สร้างให้เกิดคลัสเตอร์ชิ้นส่วนรถยนต์กลุ่ม xEV สามารถเป็นแม่เหล็กดูดค่ายรถให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้นในปีหน้า รวมถึงหากมีการนำมาตรการกระตุ้นตลาดที่เน้นให้ประโยชน์กับรถยนต์กลุ่ม xEV เข้ามาพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ในช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพิ่มเติมในปีหน้า อาจมีผลทำให้ยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดได้ ส่วนรถยนต์ในกลุ่ม ICE ในปี 2564 ถ้าการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และไม่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีนอกจากจะเป็นเพราะฐานที่ตั้งในปี 2563 แล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นตลอดช่วงปีหน้าก็คาดว่า จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ ICE เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ที่ขยายตัวตามเทรนด์ตลาดปัจจุบัน และรถปิกอัพที่คาดว่าจะเติบโตตามทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ ICE รวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 773,000 ถึง 800,000 คันได้ หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 5 ถึง 8 จากปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวอย่าง รุนแรงถึงร้อยละ 24.8 คิดเป็นยอดขายเพียง 737,550 คัน โดยตัวเลขคาดการณ์แสดงดังต่อไปนี้
โดยสรุป จากทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศปีหน้า เมื่อรวมเข้ากับการที่ไทยกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์โลกสู่ยุคของ รถยนต์กลุ่ม xEV ที่เร่งขึ้นกว่าอดีตหลังเกิดโควิด-19 ทำให้หากไทยใช้จังหวะโอกาสนี้ทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศให้เติบโตได้ดีจะช่วยเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 ถึง 80,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 ถึง 78 จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คัน ในปี 2563 และปริมาณการผลิตรถยนต์รวมของประเทศน่าจะทำได้ 1,550,000 ถึง 1,620,000 คัน ขยายตัวกว่า ร้อยละ 10 ถึง 15 จากปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตได้ 1,410,000 คัน หดตัวกว่าร้อยละ 30 จากปีก่อน ในกรณีที่ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าที่คาด
สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดอย่าง “รถเก่าแลกใหม่” ที่แม้ตอนนี้จะถูกดึงกลับไปพิจารณาถึงผลกระทบต่อ ภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากมีการผลักดันนำเข้ามาใหม่ด้วยมาตรการที่ชัดเจน และเหมาะสม ก็คาดว่าจะน่าจะช่วยเร่งให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผลของมาตรการขึ้นอยู่กับการ ออกแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ อาจนำไปพิจารณาเพิ่มเพื่อประสิทธิผลที่สูงขึ้น ได้แก่ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยเปรียบเทียบกับราคาที่ ผู้บริโภคจะสามารถขายต่อมือสอง เรื่องความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ เรื่อง มาตรการจำกัด และลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีในอนาคตเพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง และสุดท้ายเรื่องกรอบระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เร็ว และสั้นจนเกินไป เนื่องจากรถยนต์กลุ่ม xEV ที่ผลิตในประเทศ ปัจจุบันยังมีไม่มาก และการขึ้นสายผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ต้องอาศัยระยะเวลา แต่หากวางแผนได้ดีจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถดึงรุ่น ที่มีการผลิตในต่างประเทศแล้วให้เข้ามาไทยเร็วขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยเร่งสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆควรพิจารณาด้วย คือ การเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมท่ัวประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อหากมีเป้าหมายต้องการเร่งตลาด BEV และ PHEV ให้กลายเป็นรถรุ่นมาตรฐานดังเช่นหลายตลาดหลักของโลกในอนาคต โดยจากข้อมูลสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยปัจจุบันพบไทยยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงประมาณ 647 แห่ง (1,974 หัวจ่าย) หรือคิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 793 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (โดยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังต่างกันมากกับ ประเทศที่กำลังแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาด BEV และ PHEV ให้เติบโตเช่นกันอย่างสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ เรียบร้อยแล้วกว่า 28,000 สถานี (90,000 หัวจ่าย) (ข้อมูลข่าวของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563) คิด เป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 351 ตารางกิโลเมตร และภายในปี 2573 สหรัฐมีแผนจะเร่งเพิ่มหัวจ่ายขึ้นอีก 500,000 หัวจ่าย อันจะทำให้สัดส่วนสถานีชาร์จของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แห่งต่อพื้นที่ 53 ตารางกิโลเมตร