เศรษฐกิจ
เบร็ทซิท หนุนส่งออกไก่ไทยไปอียู
พาณิชย์เผยยูเคออกจากอียู ไม่กระทบส่งออกไก่ไทยไปตลาดยุโรปหลังเบร็ทซิทมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามความกรณีที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เบร็ทซิท (Brexit )มาโดยตลอดและล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศระเบียบการจัดสรรโควตา Regulation (EU) ที่ 2020/1739 ยืนยันปริมาณโควตาภาษีสิตารางผูกพันของสหภาพยุโรป (EU 28) ภายใต้ องค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ(WTO) จะมีผลบังคับใช้หลังเบร็ทซิท
โดยโควตาสินค้าสัตว์ปีกที่ไทยได้รับจัดสรรใหม่เทียบกับสถิติการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไทยไป อียู 27 ประเทศและ ยูเคย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2560-2562) พบว่าตลาด อียู ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเนื้อไก่ปรุงสุกแปรรูปได้อีกมาก เนื่องจากปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรรใหม่มีปริมาณมากถึง 109,441 ตันต่อปี ในขณะที่ไทยส่งออกไปเพียง 59,910.7 ตันต่อปี
ด้านตลาดยูเค ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไก่หมักเกลือและเนื้อเป็ด ห่านแปรรูปมากขึ้น เนื่องจากปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรรใหม่สามารถส่งออกได้ถึง 24,225 ตันต่อปี และ 14,432 ตันต่อปี ตามลำดับ ซึ่งก่อนจัดสรรโควตาใหม่ส่งออกได้เพียง 6,888.3 ตันต่อปี และ 2,105.3 ตันต่อปี ตามลำดับ
นายกีรติ กล่าวว่า ตลาดอียู เป็นตลาดส่งออกสินค้าสัตว์ปีกที่สำคัญของไทยเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น ในปี 2562 ส่งออกไปอียูมูลค่ากว่า 32,737.2 ล้านบาท ปี 2563 ตั้งแต่ม.ค.-ต.ค. มีมูลค่า 22,992.0 ล้านบาท ลดลง16.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และไอร์แลนด์ เป็นต้น ดังนั้นเบร็ทซิท จะเป็นโอกาสของสินค้าไก่หมักเกลือและเนื้อเป็ดห่านแปรรูปของไทยในตลาดยูเค สร้างมูลค่าส่งออกไก่ไทยต่อไป