'คมนาคม' ปิดดีลสนามบินภูมิภาค เหตุกฎหมายไม่รองรับ
คมนาคม ปิดดีลโอนสนามบินภูมิภาค หลังขัดข้อกฎหมายไม่รองรับ สั่ง ทอท.และ ทย. เร่งศึกษาข้อมูล หันศึกษารูปแบบร่วมทุนและตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องการกำหนดแนวทาง วิธีการในการให้ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยระบุว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้มีมติแนวทางโอนย้ายบริหารสนามบินของ ทย. ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากวิธีดังกล่าวผิดกับข้อกฎหมาย ไม่มีกฎหมายใดรองรับการถ่ายโอนสนามบินรัฐให้กับบริษัทมหาชน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีแนวคิดในการดำเนินการที่สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.แบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture หรือ JV) และ 2.ตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle หรือ SPV) แต่โดยขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นการเช่าบริหารฯ ในรูปแบบใด ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ ทอท. และ ทย. นำแผนการลงทุนในแต่ละปีของ ทย. มาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่จะผลักดันให้ท่าอากาศยานของไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของภูมิภาค ตัดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนในการลงทุน และจะทำให้ทราบว่า ทอท. ต้องลงทุนเพิ่มอีกจำนวนเท่าใด รวมถึงจะใช้การเช่าบริหารในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม
“ทั้ง 2 รูปแบบมีกฎเกณฑ์ และรูปแบบทางการเงินที่แตกต่างกัน ที่ประชุมจึงให้นำข้อมูลกลับมาเสนออีกครั้งใน 2 สัปดาห์หน้า เมื่อได้ข้อสรุปก็จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป”
สำหรับท่าอากาศยานของ ทย. ที่จะมีการเช่าบริหารประกอบด้วย 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี เบื้องต้นจะเริ่มที่ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นแห่งแรก เพื่อให้เป็นต้นแบบในการดำเนินการของท่าอากาศยานอื่นๆ ซึ่งท่าอากาศยานอุดรธานี ถือเป็นฮับสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารมาลงที่ท่าอากาศยานอุดรธานีประมาณ 2.7 ล้านคนต่อปี
อีกทั้ง ในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้โดยสารเดินทางต่อเที่ยวบิน หรือคอนเนคไฟล์ต มาจากกรุงเทพฯ ราว 25 -26% หรือประมาณ 6 แสนคน ทำให้ ทอท. ประเมินความต้องการหากเปิดเส้นทางบินใหม่ บินตรงจากต่างประเทศมายังอุดรธานี คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทาง 2.5 แสนคนต่อปี ดังนั้น ทอท.ต้องเตรียมพร้อมระบบตรวจสอบความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การติดตั้งเครื่อง CT Scan เป็นต้น