ซีไอเอ็มบีรุกรายย่อย ตั้งเป้าพอร์ตโต 5% ปี64
“ซีไอเอ็มบีไทย” รุกสินเชื่อรายย่อยปีหน้า คาดดันพอร์ตโตอีก 5% เป็น 1.45 แสนล้าน จากปีนี้ที่สินเชื่อรายย่อยติดลบ 1-3% เร่งประคองช่วยลูกหนี้ เพื่อควบคุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับบริหารจัดการได้ คาดลูกหนี้รายย่อยขอการช่วยเหลือลดลงปีหน้าเหลือ 5-10 %
นายตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจรายย่อย ธนาคารตั้งเป้าขยายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นเนื่อง โดยคาดพอร์ตรวมโตราว 5% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1.38 แสนล้านบาท เป็น 1.45 แสนล้านบาทในปีหน้า หากเทียบกับปีนี้ ที่คาดพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเติบโตติดลบราว 1-3% จากผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19
โดยการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยหลักๆ ในปีหน้า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตใน 2 พอร์ตสำคัญ โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถมือสอง ที่มองว่าสองตลาดนี้ยังมีความต้องการสินเชื่อระดับสูง อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังทุกปีพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวจะเห็นการเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สินเชื่อบ้านคิดเป็น สัดส่วนประมาณ 60% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มือสอง มีสัดส่วนประมาณ 30% ทั้งนี้มาร์จินสินเชื่อรถยนต์มือสอง ที่อยู่ในระดับสูง 6-7% เทียบกับมาร์จินรถใหม่ที่ 1-2% จะช่วยเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยให้กับธนาคารได้มากขึ้น
นายตันกล่าวว่า แม้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่คาดว่าจะรักษาระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไว้ได้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณฟื้นตัวได้ หากโควิด-19 รอบใหม่ไม่ได้ระบาดเป็นวงกว้าง
ดังนั้นโจทย์สำคัญของธนาคารในปีนี้ คือการดูแลความช่วยเหลือ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงการพักชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถคุมหนี้เอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ผ่านมา พบว่า หลังสิ้นสุดการพักหนี้ ลูกหนี้ของธนาคารส่วนใหญ่ ถึง 70% สามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้ และมีราว 20% ที่ยังต้องการให้ธนาคารช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ ซึ่งคาดว่าปีหน้า ลูกหนี้ที่จะขอรับการช่วยเหลือน่าจะลดลงเหลือระดับ 5-10%ได้
นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยหลักๆ จะมาจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management)
. ซึ่งตั้งเป้าการเติบโตค่าธรรมเนียม 25% ในปีหน้า หลังจากที่ธนาคารได้ปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวทั้งในส่วนของลูกค้า Preferred และลูกค้า Private Banking รวมทั้งการพัฒนา digital wealth management platform และการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น