ส่องปรากฏการณ์ตลาดแห่งปี ท่ามกลางวิกฤติโควิด
ปี 2563 มีปรากฏการณ์ตลาดมากมายที่เกิดขึ้นทั้งจาก "โควิด" เป็นปัจจัย "เร่ง" ให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนตัวเอง พลิกกระบวนท่า หากลยุทธ์การตลาดทำให้องค์กรธุรกิจ "อยู่รอด" ท่ามกลางความกลัวไวรัสระบาดระลอกใหม่ อะไรโดดเด่นบ้าง ติดตาม!!
แม้จะนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่ปี 2563 ถือเป็นปีโหดหินสำหรับทุกคนอย่างมาก เพราะตั้งแต่ต้นปีมีเหตุการณ์ที่กระเทือนคนทั้งประเทศลามธุรกิจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเหตุ “กราดยิงที่โคราช” ซึ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้คนไทยขวัญผวา แต่เหตุดังกล่าวทำให้ “โลกออนไลน์” มีการทวีตข้อความมหาศาล ระหว่างวันที่ 8 ถึง 9 ก.พ. 2563 บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยสถิติมากถึง 12 ล้านข้อความ มีการปฏิสัมพันธ์หรือ Engagement ถึง 66 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ไฟป่าบ้านปง จังหวัดเชียงใหม่ ที่รุนแรง ภัยแล้งหนักเป็นประวัติการณ์ ฝุ่น pM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานอย่างมาก สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ หนักสุดคือ “โควิด-19” ที่ทุบธุรกิจพังเสียหายทั้งห่วงโซ่ มีคนตกงานหลัก “ล้านคน” และการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ที่ส่งผลและ “ซ้ำเติม” ต่อบรรยากาศต่างๆให้ซบเซายิ่งขึ้น ทว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ปี 2563 มีเหตุการณ์น่าสนใจ ดังนี้
“โควิด-19” ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความกลัวหรือ Fear Factor ให้ผู้คนไม่พอ สร้างความเสียหายให้ธุรกิจอย่างมาก เพื่อสกัดไวรัสร้ายไม่ให้ระบาดในวงกว้าง รัฐจึงออกมาตรการ “ล็อกดาวน์” ห้างร้านปิดให้บริการ ร้านอาหารห้ามนั่งทานให้ซื้อกลับบ้าน ผับ บาร์ โรงภาพยนตร์ ฯ ต้องปิด แม้กระทั่ง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ยังมีมาตรการปิดร้านเวลา 22.00-05.00 น. อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน และลบคำพูดติดตลกว่า "เจอกันตอนเซเว่นฯปิด" ได้เลย
“โรงภาพยนตร์จอมืด” เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการโรงหนังต้องเจอภาวะ The Dark Year โรงหนังจอมืดเพราะไม่มีหนังฟอร์มยักษ์ หนังบล็อกบัสเตอร์จาก “ฮอลลีวู้ด” เข้าฉายชนิดลากยาวเกือบข้ามปี เลยทำให้โรงหนังมีผลดำเนินการใน Red Zone คือขาดทุน!!
“คอนเสิร์ต 2 โลก” อีเว้นท์เป็นอีกธุรกิจที่ไม่สามารถจัดงานได้ แต่เมื่อรัฐคลายล็อกดาวน์ต่างๆ ผู้ประกอบการต้องงัดทุกทางเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า การจัดคอนเสิร์ต 2 โลก ดึงคนดูจึงเกิดขึ้น คือ ออนไลน์และออฟไลน์ เช่น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จัดงาน GMM Online Festival ในพื้นที่ ไม่มีคนดู ศิลปินต้องเล่นเดี่ยวๆ และพูดคุยกับแฟนๆ ผ่านวีไลฟ์(V LIVE) เป็นต้น
“พระเอกเครื่องดื่ม” ปีนี้ตลาดเครื่องดื่ม 2 แสนล้าน เลี่ยงผลกระทบไม่ไหว ทำให้ภาพรวม “ติดลบ” 12.3% หลายหมวดตัวแดง เช่น น้ำแร่ติดลบ 23% น้ำผลไม้ติดลบ 17.8% ท่ามกลางสถานการณ์ย่ำแย่มักมีพระเอกเสมอ และ “เครื่องดื่มวิตามินซี-น้ำดื่มผสมวิตามิน” รับบทนั้น เช่น ซีวิทของค่ายโอสถสภาโตหลัก 100% ส่วนน้ำดื่มผสมวิตามินที่โตพุ่ง 70-80% ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเพียบ เช่น อิชิตัน พีเอชพลัส, เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์, อคาวิซ บาย เจเล่(AQUA-VITZ by Jele), ดี อาร์ ดริ้งค์ เป็นต้น
“TikTok-หม้อทอด” แจ้งเกิด เพราะโควิด-19 ในห้วงเวลาที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน กิจกรรมยามว่าง แก้เหงา-เบื่อ คือการเต้น ทำกิจกรรมคัฟเวอร์ร้อง เต้น ผ่านแพลตฟอร์ม “ติ๊กต๊อก” ที่อยู่ในตลาดมาระยะหนึ่ง แต่เพิ่งบูมจนเกิดดาวติ๊กต๊อกคือปีนี้ เช่นเดียวกับ “หม้อทอด” ไร้น้ำมัน ที่เป็นกระแสร้อนแรง เพราะผู้คนผันตัวเป็นเชฟรักสุขภาพ เห็นหม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารได้หลากหลาย จึงเกิดการซื้อสินค้าล้นหลาม ซึ่ง ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัดหรือเอ็มไอ เล่าว่า ตัวอย่างฟิลลิปส์ ที่ทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเผชิญความท้าทายด้านการเติบโต หม้อทอดไร้น้ำมันทำตลาดมา 8 ปี แต่โควิดทำให้ขายยดีถล่มทลายเช่นกัน
“เพนกวิน อีท ชาบู” ปั้นโมเดลใหม่จนรอด!! โควิดทำให้หน้าร้านอาหารเสิร์ฟลูกค้าไม่ได้ ผู้ประกอบการพลิกเกมหาสูตรรอด ที่สำเร็จและโดดเด่นยกให้เพนกวิน อีท ชาบู ขอเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้านพร้อมหม้อ จนหลายรายนำไปประยุกต์ใช้ และยังเป็นรายแรกที่มี “ฉากกั้น” ในร้านหลังคลายล็อกดาวน์ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
“ซีพีควบเทสโก โลตัส” ปรากฏการณ์ซื้อกิจการแห่งปียกให้ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ซื้อเทสโก้ โลตัส กลับสู่อ้อมอกซีพี ด้วยมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ให้อาณาจักรค้าปลีกแข็งแกร่ง เพราะมีห้างค้าปลีกหลากแพลตฟอร์มที่สุด
“เซ็นทรัล รีเทล เข้าตลาดฯ” การเปลี่ยนแปลง “ธุรกิจครอบครัว” สู่การเป็น “มหาชน” ของอาณาจักรค้าปลีกตระกูล “จิราธิวัฒน์” ทำให้กลายเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่สุดของตลาดหุ้นไทย โดยการซื้อขายวันแรก 20 ก.พ.2563 มีการระดมทุนกว่า 78,000 ล้านบาท ยังสร้างประวัติศาสตร์ไกลระดับโลก เพราะเป็นมูลค่า IPO ของกลุ่มค้าปลีกใหญ่สุดในโลกรอบกว่า 1 ทศวรรษด้วย
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงการตลาดเท่านั้น เพราะสิ่งที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย ทั้งตลาดนัดออนไลน์อย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน, “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส, เดลิเวอรี่ที่โตมาก ตลาดคึกคักจากบรรดาผู้เล่นในตลาดขนส่งอาหาร แข่งขันกันดุเดือด, ตลาดส่งพัสดุ ที่เติบโตดีมาก เพราะคนอยู่บ้าน ต้องสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จนบางรายมีพัสดุกองในสาขามหาศาล การแห่ซื้อสินค้าไปตุนไว้ช่วงโควิด โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น หรือเมื่อคลายล็อกดาวน์ ผู้บริโภคแห่ซื้อ "เบียร์" จำนวนมาก หลังต้องห้ามจำหน่ายไปพักใหญ่ ท่ามกลางออนไลน์เป็นช่องทางเดียวที่ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ แต่ "แอลกอฮอล์" โดนเบรกหัวทิ่มห้ามขายผ่านออนไลน์ เพราะจำกัดเวลาไม่ได้เหมือนออฟไลน์ เป็นต้น