บี.กริม เพาเวอร์ รุก “ไอพีเอส” เจาะตลาดใหม่
บี.กริม เพาเวอร์ ลุยตลาด“ไอพีเอส” เสนอโซลูชั่นผลิตไฟ-ไอน้ำ ป้อนกลุ่มลูกค้าอาคาร ศูนย์การค้าลดต้นทุนค่าไฟ คาดชัดเจนในปีนี้ แย้มเริ่มเจรจาแล้ว 5-6 ราย
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ในปี2564 บริษัทมีแผนเจาะตลาดผลิตไฟฟ้ากลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการผลิตไฟใช้เอง หรือจำหน่ายให้ลูกค้าตรง โดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้าจะขยายตลาดเข้าไปในกลุ่ม IPS ที่เป็นลักษณะกลุ่มอาคาร หรือ ศูนย์การค้า ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหม่ๆ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่บริษัท ได้ทำตลาด IPS กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และกลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อป ที่ใช้บริการติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาด IPS เป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นการเปิดโครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่หลายโครงการ และมีต้นทุนการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูง ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงานเพื่อประหยัดต้นทุนลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่ม IPS ที่แสดงความสนใจและเข้ามาหารือรายละเอียดในเบื้องต้นกับบริษัทแล้วประมาณ 5-6 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่า จะมีความชัดเจนในรูปแบบการลงทุนได้ภายในปี 2564
“รูปแบบการเจาะตลาด IPS จะเป็นลักษณะการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มลูกค้า และบี.กริม ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่หลากหลายและครอบคลุมงานภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้านอุปกรณ์พลังงาน ,เครื่องปรับอากาศ ,ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งก๊าซฯ และโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้าต้องการโซลูชั่นแบบไหน และจะให้บี.กริม เป็นผู้ลงทุน หรือลูกค้าลงทุน หรือร่วมลงทุน ก็ขึ้นอยู่ที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย”
นอกจากนี้ หากในอนาคตภาครัฐเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ บริษัทมองโอกาสที่จะนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนกลุ่ม IPS โครงการใหม่ๆ รวมถึงขายให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ LNG
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเข้าไปเจาะตลาด IPS เพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ต้นทุนถูกลงมาก สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประมาณ 20-30 เมกะวัตต์