โลจิสติกส์ย้อนกลับสีเขียว
โลจิสติกส์ย้อนกลับเพื่อนำสินค้าที่เรียกคืนส่งกลับไปที่ต้นน้ำของโซ่อุปทานเพื่อตรวจสอบ คัดแยก ปรับสภาพใหม่ และกระจายสินค้ากลับไปขาย หรือกำจัดอย่างถูกวิธี
หากพิจารณาจากแนวคิดการจัดการโซ่อุปทานสีเขียวที่มีวัตถุประสงค์ในการลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์และกิจกรรมอื่นๆ ตลอดโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นการบรรลุ 2 เป้าหมายหลักด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1) การกำจัดหรือลดปริมาณของเสีย เช่น พลังงาน ก๊าซพิษ สารอันตราย และขยะมูลฝอย; และ 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล ซึ่งดูเหมือนว่าการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) ที่เป็นการดึงผลิตภัณฑ์กลับจากผู้บริโภคปลายน้ำเพื่อนำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่หรือกำจัดอย่างเหมาะสม สามารถสนับสนุนแนวคิดการจัดการโซ่อุปทานสีเขียวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมีบทบาทสำคัญต่อนโยบาย Zero Waste ที่ต้องการลดการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะโดยการนำสินค้ากลับมาซ่อมแซม (Repair) ผลิตใหม่ (Remanufacture) หรือรีไซเคิล (Recycle)
จากนโยบาย Zero Waste ส่งผลให้ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ที่ต้องการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานตนเองจึงมุ่งเน้นไปที่การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับเพื่อนำสินค้าที่เรียกคืนส่งกลับไปที่ต้นน้ำของโซ่อุปทานเพื่อตรวจสอบ คัดแยก ปรับสภาพใหม่ และกระจายสินค้ากลับไปขาย หรือกำจัดอย่างถูกวิธี อาทิ การจัดตั้ง Recycle Center ในสาขาที่เปิดใหม่ของเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ตามโครงการ 'ส่งพลาสติกกลับบ้าน' หรือการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิล ณ บริเวณสโตร์ของ Sainsbury เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถนำขยะประเภทต่าง ๆ และบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับ ที่ในทางหนึ่ง แม้ว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับจะช่วยลดปริมาณของเสียและหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง โดยนำสินค้าย้อนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่หรือนำไปทำลายทิ้งโดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแทนการฝังกลบ แต่ในทางตรงกันข้าม การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับอาจกลายเป็นการเพิ่มมลพิษทางอากาศจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่งสินค้าเหล่านั้นย้อนกลับมาที่ต้นน้ำของโซ่อุปทาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่รถบรรทุกในกระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับเหล่านี้มักจะมีปริมาณการบรรทุกสินค้าที่ขนส่งกลับไปที่ซัพพลายเออร์แบบไม่เต็มคัน ซึ่งทำให้ไม่คุ้มค่าในด้านการใช้พลังงาน รวมไปถึงการผลิตก๊าซพิษตลอดจนสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากกระบวนการขนส่งและรีไซเคิล
กล่าวคือ แม้ว่าการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับอาจสามารถตอบสนองนโยบาย Zero Waste ได้จากการลดปริมาณขยะและการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองลงได้ส่วนหนึ่ง แต่อาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลแทน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อนโยบาย Zero Carbon ดังนั้นผู้ที่คิดจะทำโลจิสติกส์ย้อนกลับจึงต้องเผชิญกับความท้าทายดังกล่าวซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำให้เกิดการจัดการโลจิสติกส์สีเขียวอย่างแท้จริง
ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้พยายามนำเสนอแนวทางบรรเทาปัญหาความไม่สมดุลระหว่างนโยบาย Zero Waste และ Zero Carbon ในกระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับ โดยลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่าในส่วนของโลจิสติกส์ย้อนกลับ อย่างเช่นที่ร้านค้าปลีกอย่าง Costco ขนส่งสินค้าที่ต้องส่งคืนกลับไปให้ซัพพลายเออร์ไปกับรถพ่วงที่ต้องวิ่งกลับไปที่คลังสินค้าหลักอยู่แล้ว แทนที่การวิ่งรถเที่ยวเปล่าเพื่อไปรับสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับจึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและควรอยู่ภายใต้กรอบของการจัดการโซ่อุปทานสีเขียวที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม (Holistic View) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม
คราวหน้า เรามาคุยกันต่อว่าแล้วไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีวิธีในการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับสีเขียวกันอย่างไรบ้าง ที่สามารถลดทั้งปริมาณขยะและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ