ปชน.หวัง สส.-สว.ไฟเขียวแก้ข้อบังคับประชุมสภาฯ เปิดช่อง ปชช.ร่วมร่าง รธน.
'พริษฐ์' ขอประชาชนร่วมกับจับตา 14 ม.ค. ถกร่างแก้ไขข้อบังคับประชุมสภาฯ หวัง สส.ทุกพรรค พร้อม สว.เห็นชอบ ปลดล็อกภาคประชาชน-นักวิชาการเข้าไปร่วมทำงานแก้ รธน.ในชั้น กมธ.ได้
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีวันที่ 14 ม.ค. 2568 จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขข้อบังคับประชุมรัฐภา ของพรรค ปชน. โดยระบุว่า รัฐสภาของประชาชน พรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับประชุมรัฐภา เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ในชั้นกรรมาธิการ จับตาการพิจารณาและลงมติในวันอังคารนี้ (14 ม.ค.) จะมีการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง สส. 500 คน กับ สว. 200 คน
นายพริษฐ์ ระบุว่า แม้ตอนแรกเคยมีการตกลงกันเมื่อปลายปี ว่าวาระสำหรับการประชุมดังกล่าว จะเป็นคิวของการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. เรื่อง สสร. แต่ในที่ประชุมวิปแต่ละฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทางวิป สว. ได้ขอเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อนเพราะต้องการเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รายละเอียด: https://shorturl.at/V1KxG) แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาการประชุมที่นัดไว้แล้วโดยเปล่าประโยชน์ ตนและพรรคประชาชนจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันดังกล่าว
นายพริษฐ์ ระบุอีกว่า ประเด็นหลักที่เราได้เสนอในร่าง คือการทำให้รัฐสภาเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ในกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้นกรรมาธิการ เช่น สำหรับกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ที่ถูกพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาฯลงมติรับหลักการหรือเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับใด ในวาระที่ 1 แล้ว คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตราก่อนกลับมานำเสนอสภาฯ ในวาระที่ 2 จะมีการแบ่งสัดส่วนรายชื่อตามสัดส่วน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง โดยบุคคลที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองเพื่อไปทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการ จะเป็น สส. หรือ “ประชาชนทั่วไป” (ที่ไม่ใช่ สส.) ก็ได้
"ตรงนี้เป็นกลไกสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง สามารถเสนอชื่อบุคคล-นักวิชาการ-ภาคประชาชน ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นของร่างกฎหมายต่างๆ เข้าไปทำหน้าที่ในชั้นคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบและรอบด้าน (ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคประชาชน-พรรคก้าวไกล ได้ทำมาโดยตลอดสำหรับการเสนอชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเรา)" นายพริษฐ์ ระบุ
นายพริษฐ์ ระบุด้วยว่า แต่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อรัฐสภาลงมติรับหลักการหรือเห็นชอบร่างแก้ไข รธน ฉบับใด ในวาระที่ 1 แล้ว ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ข้อ 123) ไปกำหนดว่าคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตราก่อนกลับมานำเสนอรัฐสภาในวาระที่ 2 จะต้องประกอบไปด้วย “สมาชิกรัฐสภา” (สส. หรือ สว.) เท่านั้น โดยไม่เปิดช่องให้ “ประชาชนทั่วไป” (ที่ไม่ใช่ สส. หรือ สว.) ถูกเสนอชื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้
"ดังนั้น ผมและพรรคประชาชนจึงเสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับ เพื่อปลดล็อกและเปิดโอกาสให้ พรรคการเมือง หรือ สว. สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไป (เช่น นักวิชาการหรือภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เข้าไปร่วมทำงานกับสมาชิกรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการได้" นายพริษฐ์ ระบุ
โฆษกพรรค ปชน. ระบุว่า นอกเหนือจากประเด็นหลักดังกล่าว ร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนอื่นเพื่อให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการดำเนินงานธุรการต่างๆ (เช่น นัดประชุม เผยแพร่เอกสาร) และการยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป (เช่น ยกเลิกหมวดเรื่องการเลือกนายกฯ ซึ่งตอนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ของรัฐสภา)
"ผมหวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาจะเห็นชอบกับร่างแก้ไขข้อบังคับของพรรคประชาชนฉบับนี้ (โดยต้องรอดูว่าจะมีพรรคใด หรือ สว. กลุ่มใด เสนอร่างประกบหรือไม่) โดยหากร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรงมากขึ้นในชั้นคณะกรรมาธิการ" โฆษกพรรค ปชน. ระบุ
ภาพและข้อมูลจาก: พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
อ่านร่างฉบับเต็ม: คลิกที่นี่