สำรวจ 'ค้าปลีก' กระทบแค่ไหนจากวิกฤติ 'โควิด-19' ปี 2564 ยังหนักหน่วง หรือ คลี่คลาย?
"ธุรกิจค้าปลีก" ได้รับกระทบแค่ไหนจากวิกฤติโควิด-19? ปี 2564 ยังหนักหน่วงอยู่หรือไม่? ส่องปัจจัยบวก ปัจจัยลบ
ต้องยอมรับว่าปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับใครหลายคนและธุรกิจต่างๆ ต้องถูกชัตดาวน์ไปชั่วขณะ จากมาตรการ ล็อกดาวน์ ควบคุมและป้องกันโควิด-19 วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น ไม่มีใครตั้งตัวได้ทันและไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รวมถึงยังไม่รู้จุดสิ้นสุดด้วยว่าจะจบลงเมื่อไร แม้บางธุรกิจจะสามารถปรับตัวรับมือได้บ้าง แต่ก็เรียกว่าหืดจับกันทีเดียว
หากย้อนกลับไปช่วงปลายมีนาคม 2563 เมื่อการแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น รัฐจึงประกาศ ล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว ผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดการณ์ "ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน" ชี้ว่า ช่วงเมษายน 2563 ดัชนีค้าปลีกหดตัวลงถึง 29.25% มาจากหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือคนไทยและของที่ระลึก ร้านขายปลีกเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง และร้านขายปลีกสิ่งทอ
ช่วงเวลาเดียวกันร้านขายปลีก ที่รับสั่งสินค้าทางไปรษณีย์และขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะพฤษภาคม 2563 ที่ดัชนีขยายตัวถึง 155%
แต่ธุรกิจที่ได้โอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ไม่ได้มีสำหรับทุกคน เพราะ ผู้ประกอบการค้าปลีก ของไทยกว่า 8.95 แสนราย เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (Micro) จากผู้ประกอบการทั้งหมด 9.05 แสนราย ที่ต้องแข่งขันในตลาดเดียวกัน ท่ามกลางข้อจำกัดด้านเงินทุน และเมื่อวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งกระทบต่อสภาพคล่อง และปรับตัวไม่ทัน เมื่อต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาพที่เห็นคือไม่สามารถปรับตัวได้และทยอยปิดกิจการลง
เมื่อไปเจาะลึกผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ในกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น กลุ่มเซ็นทรัล เซเวนอีเลฟเว่น บิ๊กซี และแม็คโคร ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563 หดตัวกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รายได้ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ยกเว้น "แม็คโคร" ที่ขยายตัวสวนทางเศรษฐกิจ
- กลุ่มเซ็นทรัล รายได้รวมลดลง 10.36% โดยเป็นการลดลงในรายได้ทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแฟชั่นและอาหาร รวมถึงรายได้จากส่วนของค่าเช่าที่ลดลงด้วย
- เซเวนอีเลฟเว่น รายได้รวมลดลง 7.52% สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงของรายได้จากการขายและบริการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนธุรกิจสู่ช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น
- บิ๊กซี รายได้รวมลดลง 9.86% สาเหตุหลักมาจากอัตราการเติบโตของยอดขายต่อสาขาลดลง เช่นเดียวกับรายได้ค่าเช่าปรับตัวลดลงจากการที่ยังให้ส่วนลดค่าเช่า และอัตราการเช่าพื้นที่ยังคงไม่กลับมา 100%
- แม็คโคร รายได้รวมขยายตัว 4.35% เป็นผลจากการเปิดสาขาใหม่ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งหมด 6 สาขา รวมถึงมาจากการที่พัฒนาด้านต่างๆ ทั้งรูปแบบสาขา ผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การพัฒนาช่องทางการขายแบบ O2O และการชำระสินค้าผ่านอี-เพย์เมนท์
แม้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ภาพรวมสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น แต่แสงที่กำลังสว่างกลับต้องหรี่ลงไป เมื่อการระบาดระลอกใหม่กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งช่วงธันวาคม 2563 มู้ดการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ดูบางตาลง
..แล้วแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในปี 2564 มีทิศทางเป็นอย่างไร?
"ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน" ได้คาดการณ์ว่า ไตรมาสแรกของปี 2564 ธุรกิจค้าปลีกจะหดตัวสูง หากพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นและกระจายไปในหลายจังหวัด ถ้าควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในช่วงระยะเวลาอันสั้น ช่วงไตรมาส 2 ก็จะได้เห็นการฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่วันนี้ไม่ได้เป็นในทิศทางนั้น รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์บางจังหวัด รวมถึงมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกหดตัวด้วยตัวเลขสองหลักเช่นเดียวกับปี 2563
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลักๆ มุ่งตรงไปที่กลุ่มร้านค้าปลีกขายอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องปรุงรส รวมถึงร้านขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในพื้นที่ตลาดสด และ ตลาดนัด นอกจากนี้ยังรวมถึงร้านอาหารแบบนั่งกินในร้านบางประเภท เช่น ปิ้ง ย่าง ชาบู หรือสุกี้
ส่วย ปัจจัยบวก ยังคงตกไปอยู่กับธุรกิจค้าปลีกสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และกลุ่มอีคอมเมิร์ซ และฟู้ดเดลิเวอรี่
อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตากับ "4 ปัจจัยเสี่ยง" ที่จะส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีก ดังนี้
1.การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ หากลากยาวออกไปหรือรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
2.กำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภครายได้ระดับปานกลางถึงล่าง ยังคงถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
3.การแข่งขันค่อนข้างมาก ทั้งการแข่งขันจากธุรกิจค้าปลีกประเภทเดียวกันและธุรกิจค้าปลีกข้ามประเภท เช่น ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายการลงทุนข้ามเซ็กเมนท์เป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
4.ผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรดที่รุกการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มค้าปลีกออนไลน์รายย่อย หรือเอสเอ็มอี ที่ขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกทั้งยังต้องเผชิญความท้าทายการแข่งขันของผู้ประกอบการต่างชาติ เช่น จีน เกาหลีใต้ ที่จะเข้ามาทำตลาดออนไลน์แบบอี-มาร์เก็ต เพลซ ในไทยมากขึ้น