'แรงงานไทย' มิได้ขี้เกียจ
ไขข้อข้องใจ ทำไม "แรงงานต่างประเทศ" ถึงเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะแรงงานไทยไม่เพียงพอจริงหรือ? แล้วแรงงานต่างประเทศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?
การปะทุของการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในบ้านเรา สร้างความหวาดหวั่นให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วมีนักวิชาการไทยที่กล่าวเตือนสังคมไทยว่าอาจจะมีการระบาดได้อีกและถ้า “การ์ดตก” จะยิ่งหนักขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างก่อนหน้ามาแล้วในต่างประเทศ
ประเทศที่จัดการรอบแรกของการระบาดได้ดีก็ไม่วายมีการระบาดถึงสองครั้งสามครั้ง เช่นในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ส่วนประเทศที่จัดการไม่ดีและระบาดกันเป็นระลอกจนแทบนับไม่ได้ก็ได้แก่ อังกฤษ สเปน อิตาลี และอีกหลายประเทศในยุโรป สำหรับสหรัฐนั้นไม่สามารถนับรอบได้เพราะคุณทรัมป์จัดการได้ดีมากตั้งแต่ระลอกแรกจนไม่อาจโงหัวขึ้นนับได้
ในเชิงวิชาการของการระบาดของโควิด-19 นั้นการระบาดอีกระลอกหนึ่งของประเทศใดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก WHO ได้เตือนแต่แรกแล้วว่าที่ต่อสู้กันอย่างหนักในตอนแรกจนดูจะ “เอาอยู่” นั้น แท้จริงแล้วมันเป็นสงครามยาว ตัวไวรัส SARS-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้นมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา แตกออกได้หลายสเตรนด์ (strain) แล้วแต่ว่ามันจะทำให้เกิดความร้ายแรงกว่าเดิมหรือไม่ ล่าสุดสายพันธุ์ไวรัสนี้จากอังกฤษสามารถทำให้การติดโรคง่ายกว่าเก่าเกือบเท่าตัว (70%) แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น และเท่าที่เข้าใจกันในตอนนี้ วัคซีนหลายตัวที่ประกาศออกตัวมาน่าจะ “เอาอยู่”
ทั้งโลกกำลังวิตกว่าจะพบสายพันธุ์จากอังกฤษในคนไข้ของประเทศตนเอง ณ วันต้นปี 2564 มีรายงานแล้วว่าพบในสหรัฐ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน (ล่าสุดไทยก็พบใน 4 คน พ่อแม่ลูกเดินทางจากอังกฤษแต่ไม่ระบาดออกมา) หลายประเทศประกาศปิดประเทศ ไม่รับผู้ที่เดินทางจากอังกฤษอย่างเด็ดขาด เป็นที่คาดกันว่าอีกไม่นานจะพบในอีกหลายประเทศ อันเกิดจากการเดินทางจากคนที่พักอาศัยอยู่ในอังกฤษสู่ประเทศอื่นๆ ในฐานะนักธุรกิจ หรือพนักงานของรัฐ
การระบาดรอบใหม่ของไทยเราเริ่มต้นจากการที่หญิงไทยหลายคนไปทำงานในเมียนมาและติดเชื้อซึ่งมีการระบาดค่อนข้างมากในสถานที่ไป แล้วนำเชื้อมาระบาดในฝั่งไทย หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวว่ามีแรงงานจากเมียนมาจำนวนหนึ่งลักลอบเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายโดยมีแก๊งคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนั้นเชื้อโควิดก็ไปถึงเพื่อนร่วมชาติที่ทำงานอยู่ที่สมุทรสาคร ซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันในหอพักใหญ่ที่แออัด การระบาดครั้งที่สองจึงเริ่มต้นและกระจายออกไป 54 จังหวัดของไทย (ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ณ วันที่ 4 ม.ค.) จนพบผู้ป่วยวันละ 100-200 กว่าคนเกือบทุกวันเป็นเวลาสองอาทิตย์ติดต่อกัน
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการเพ่งเล็งไปที่แรงงานจากเมียนมา มีการต่อว่า ด่าทอกันในโลกโซเชียลว่าแรงงานเหล่านี้เป็นต้นเหตุทำให้บ้านเมืองไทยลำบาก อย่างไรก็ดี กระแสนี้ไม่ติดตลาด เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มมีสติว่ามันเป็นเรื่องของความบังเอิญที่ไม่มีคนตั้งใจเอาโรคมาสู่ฝั่งไทย แรงงานที่ไหนก็กลัวโรคนี้และไม่อยากเป็นด้วยกันทั้งนั้น (อุบัติเหตุรถยนต์ที่ทำให้คนบาดเจ็บไม่มีใครตั้งใจให้เกิด เพราะไม่มีใครอยากเจ็บปวดและสูญเสีย แต่ก็เกิดขึ้นจนได้ บ่อยครั้งที่โทษใครไม่ได้ชัดเจน ซึ่งต่างจากกรณีที่เมาแล้วขับที่เห็นคนเป็นต้นเหตุชัดเจน)
คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้ทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศไทยได้อย่างน่าชื่นชม ท่านบอกว่าคนไทยควรมองแรงงานเหล่านี้ว่าเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราที่สำคัญ ไม่ควรมีอคติ แต่ควรให้กำลังใจเขาที่ตกอยู่ในสภาพลำบากเหมือนกัน คำกล่าวนี้เรียกน้ำตาจากแรงงานต่างชาติได้เป็นอันมาก ช่วยสร้างบรรยากาศและมิตรภาพที่ดีระหว่างคนไทยบางส่วนที่พยายามหา “แพะ” กับแรงงานต่างชาติที่ตกอยู่ในสภาพลำบากใจ
ผู้เขียนได้เขียนและพูดในหลายโอกาสว่า แรงงานเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่าของบ้านเรา เพราะถ้าเราไม่มีเขาแล้ว เศรษฐกิจไทยจะลำบาก เนื่องจากเราขาดแคลนแรงงานในวัยหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก คนไทยมิได้ขี้เกียจ ไม่ยอมทำงานที่แรงงานเหล่านี้ทำอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ว่าคนไทยในวัยนี้จำนวนมากมิได้เกิดมา
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2506-2526 คนไทยเกิดเกินกว่า 1 ล้านคนต่อปี หลังจากนั้นก็ลดลงเป็นลำดับ โดยในปี 2536 มีจำนวนการเกิดประมาณ 984,000 คน ปี 2561 เกิด 666,000 คนและในปี 2562 เกิดเพียง 618,193 คน และตาย 506,211 คน
โครงสร้างแรงงานไทยปัจจุบันมีดังนี้ อายุ 0-14 ปี 16.5%, อายุ 15-24 ปี 13%, อายุ 25-54 ปี 46%, อายุ 55-64 ปี 13% และอายุ 65 ปีขึ้นไป 12% วัยที่มีจำนวนแรงงานมากที่สุดคือ 39 ปี จะเห็นได้ว่าเรามีคนในวัยฉกรรจ์ 15-24 ปี เพียง 13% และมีแรงงานโดยรวมที่เรียกได้ว่าสูงอายุ
เมื่อมีจำนวนการเกิดน้อยลงเป็นลำดับ ก็หมายความว่าย่อมมีจำนวนแรงงานน้อยลงในเวลาต่อมาเป็นลำดับเช่นกัน ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว (สร้างงานสร้างรายได้ของประเทศ) ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้น หากเกิดการขาดแคลนแรงงานแล้วจุดประสงค์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างไรก็ดี เราโชคดีที่มีเพื่อนบ้านที่มีแรงงานเกินใช้อยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้แรงงานจากเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือในราคาค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 313 บาทต่อวัน (ไทยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสมอหน้ากันหมดไม่ว่าเป็นแรงงานจากชาติไหน) ซึ่งเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้ข้ามมาทำงานในบ้านเรา
ลองจินตนาการว่าถ้าเราไม่มีแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเราแล้วอะไรจะเกิดขึ้น (ใช้จินตนาการเดียวกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน ถ้าคนอีสานรวมกันไม่มาทำงานในกรุงเทพฯ จะเกิดอะไรขึ้น) ขนาดและพลวัตของเศรษฐกิจไทยกับแรงงานในวัยฉกรรจ์จากเพื่อนบ้าน 3-4 ล้านคนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสิ่งแวดล้อมทางสังคม นายจ้างกับแรงงานเหล่านี้ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางกฎหมายและข้อบังคับในการทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลิตภาพ (productivity) ของผู้ทำงาน ดังนั้น การมองแรงงานเหล่านี้ด้วยอคติ ด้วยความเข้าใจผิด (มีคนไทยในโซเชียลมีเดียกล่าวหาว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีเพราะแรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้าน) และด้วยความรู้สึกที่เป็นลบอันเกิดจากกรณีการระบาด จึงมิใช่สิ่งพึงปรารถนา ความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตาเป็นสิ่งที่พึงใคร่ครวญในฐานะที่เราได้ “ร่วมกรรม” กันตามแนวคิดของพุทธศาสนาที่เราก็นับถือร่วมกัน
การมีน้ำใจและการเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตาซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีของคนไทย จะช่วยสานสัมพันธ์กับพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้เรามีแรงงานมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราและได้ประโยชน์ร่วมกัน