โควิดทำหนี้เสียSMEsพุ่ง 2.29 แสนล้านบาทธุรกิจเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

โควิดทำหนี้เสียSMEsพุ่ง 2.29 แสนล้านบาทธุรกิจเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ เอสเอ็มอีเป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้ว 2.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของสินเชื่อทั้งระบบ 3.5 ล้านล้านบาท เหตุเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ แม้รัฐบาลออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาทมาอุ้ม เหตุวิธีการทำเข้าถึงยาก

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ขณะนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก โดยหากนับจากการระบาดในรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่าตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งหนี้เสีย (NPL) ของเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 6% ของสินเชื่อ 3.5 ล้านล้านบาท หรือเป็นหนี้เสียถึง 2.29 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือกลุ่มเปราะบาง หรือพวกหาเช้ากินค่ำ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเล็ๆที่สายป่านไม่ยาว และกลุ่มที่ภาครัฐขอความร่วมมือปิดกิจการ ในเมื่อขอความร่วมมือภาครัฐก็ต้องเยียวยา โดยควรมีระบบในแต่ละจังหวัดที่เกิดวิกฤติทำทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะมองว่าวิกฤติรอบนี้กว่าจะมีวัคซีน และฟื้นกลับมาปกติอาจต้องใช้ระยะเวลาถึงไตรมาส 3-4

161035509161

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีตั้งแต่การระบาดรอบแรก โดยเฉพาะการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง หรือซอฟท์โลน 5 แสนล้าน แต่ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการที่เข้าถึงซอร์ฟโลนดังกล่าวแค่ 7 หมื่นราย มีการใช้เม็ดเงินจากซอร์ฟโลนดังกล่าวแค่ 1.2 แสนล้านบาท เหลืออีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดยสาเหตุที่เข้าไม่ถึงแม้ว่าธปท.จะผ่อนปรนเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เสียงจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างบอกว่าหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่หน่วยงานปล่อยสินเชื่อยังยึดเกณฑ์เดิมๆ ที่ทำให้

เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะยังไม่ปรับตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเงินกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ พอเจอวิกฤติรอบใหม่ ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์เอสเอ็มอีให้หนักกว่าเดิม

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบ้านเรามีจำนวน 3.1 ล้านราย มีการจ้างงาน 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีแม้ว่านโยบายของภาครัฐที่ออกมาหลายโครงการจะดีมาก คือถ้าลงลึกไส้ในวิธีการปฏิบัติ จะเห็นได้ชัดว่า

เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ดังนั้นภาครัฐควรฟังเสียและปรับปรุงวิธีการ เพื่อให้วิกฤติการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่กระทบกับเอสเอ็มอีเบาบางลง” นายแสงชัย กล่าว