โควิด-19 ยังกระทบส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยต่อเนื่อง

โควิด-19 ยังกระทบส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยต่อเนื่อง

ส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับไทย 11 เดือนปี 63 ร่วงหล่นเป็นอันดับ 2 รองจากชิ้นส่วนยานยนต์ ผลจากโควิด-19 ระลอก 2 เร่งสร้างมาตรฐานเพิ่มความมั่นใจผู้ซื้อ

นายสุเมธ  ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที  เปิดเผยว่า  การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนม.ค-พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 17,548.80 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 17.24%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 14,968.31 ล้านดอลลาร์ โดยอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วน 8.30 %ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย รองจากการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 4,395.91 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 42.26 %  อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะการส่งออกในเดือนพ.ย. 2563 เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2563 พบว่ามูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ไม่รวมทองคำ ปรับตัวลดลง 2.75%

ขณะที่การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. 2563 มีมูลค่า 7,454.53 ล้านดอลลาร์ ลดลง 34.90 %  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  แต่หากพิจารณาการนำเข้าเดือนพ.ย.เทียบกับเดือนต.ค. 2563 พบว่า การนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 2.11 เท่า โดยไทยนำเข้าสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ซึ่งมีสัดส่วนราว 80.94 % เพิ่มสูงขึ้น 4.86 เท่า รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรและพลอยสี ซึ่งขยายตัว 22.32% และ 9.18%  ตามลำดับ

  161052863236               

"สาเหตุที่อันดับแชมป์ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตกลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลักลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีการระบาดของโควิด 19  และมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมาขึ้นสูงสุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้การส่งออกลดลง  อีกทั้งการเทขายทองคำทำกำไรระยะสั้นของนักลงทุนก็เป็น​ อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกลดลงซึ่งในภาวะของการแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้ ส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ”

ทั้งนี้สถาบันจึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อ - ผู้ขายอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับและโลหะมีค่า (GIT STANDARD) และหากผู้บริโภคสนใจหรือมีความต้องการในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันแนะนำให้เลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC) หรือสามารถสอบถามเบื้องต้นผ่านแอพลิเคชั่น “CARAT” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นให้คำปรึกษาออนไลน์และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

               

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า   อัญมณีและเครื่องประดับไทยถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็ถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 ของโลก  ซึ่งผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การระบาดระลอกใหม่ช่วงปลายปี 63 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และทำให้ยอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยลดลง เนื่องจากยอดส่งออกทองคำลดลง ดังนั้นเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) เร่งสร้างมาตรฐาน
อัญมณีและเครื่องประดับตอบโจทย์การค้าในปัจจุบัน