สอวช.-สอท.ดึงนวัตกรรม สร้างสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอี
การพัฒนาประเทศชาติให้เข้มแข็งและยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม โดยจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการใช้แรงงานผลิตสินค้ามูลค่าต่ำไปสู่การเศรษฐกิจนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง
กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนสร้างบริษัทเอกชนที่นำนวัตกรรมมาสร้างเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้มีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ไม่ถึง 100 ราย ที่มีงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ส่วนเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่มีทุนเพียงพอสร้างเทคโนโลยี ทำให้เกิดช่องว่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงมีแผนสร้างเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ 1,000 ราย ให้มีรายได้ต่อบริษัทไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท ให้ได้ภายใน 5 ปี โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.การสนับสนันเงินทุนการวิจัยสร้างนวัตกรรมผ่านทางกองทุนส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมปีละ 2 หมื่นล้านบาท โดยใส่เงินทุนผ่านทางหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยนวัตกรรม ซึ่งมีหลายหน่วยงานแต่มีหน่วยงานหลัก คือ หน่วยบริการเงินทุนเพื่อวิจัยนวัตกรรมทางด้านการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน จะมีเงินทุนปีละ 4 พันล้านบาท โดยนำมาสนับสนุนการวิจัยที่ใกล้ตลาด (สินค้าที่ขายได้ทันที) โดยจับคู่กับภาคเอกชน เมื่อทำวิจัยเสร็จจะนำไปผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ทันที
รวมทั้งตั้งกองทุนร่วมกับภาคเอกชน โดย สอวช.ร่วมกับ สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี ซึ่งเอกชนเป็นผู้บริหาร โดยเงินทุนจะมาจาก ส.อ.ท.จะตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี ระดมเงินจากบริษัทใหญ่ และรัฐบาลจะให้เงินที่บริษัทใหญ่ใส่เข้ามานำไปยกเว้นภาษีได้ 2 เท่า และกองทุนส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมจะใส่เงินทุนเข้าไปอีก 1 เท่าตัว ของจำนวนที่เอกชนลงเงินเข้ามา แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อปี รวมไม่เกิน 3 ปี เอกชนจะใส่เงินทุนเข้ามามากเท่าไรก็ได้
กองทุนนี้จะช่วยสร้างนวัตกรรมให้เอสเอ็มอีไทย เมื่อทำนวัตกรรมขึ้นมาแล้วได้ประสานบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐให้ซื้อสินค้าจากบริษัทเหล่านี้ เพื่อเป็นตลาดให้บริษัทที่สร้างนวัตกรรม จะทำให้ไทยมีบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เป็นการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ใหม่เข้าประเทศ ซึ่งคาดว่ากองทุนนี้จะดำเนินการได้ปี 2565
“ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่มีรายได้ 400-500 ล้านบาท จำนวน 5,000 ราย ที่ผลักดันธุรกิจให้มีมูลค่ามากกว่านี้ไม่ได้ เพราะขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี"
ดังนั้น ภาครัฐจะใช้หน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและกองทุนต่างๆ ช่วยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้มีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท โดยจะยกระดับกลุ่มนี้ให้ได้ 10% รวมกับการสร้างสตาร์ทอัพอีกให้มีรายได้ถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพสูงมากคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะเกิดสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอน (มีรายได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์) 1-2 ราย จะเป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเมื่อรวมกับการสร้างเอสเอ็มอีที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2564 จะมีกว่า 100 ราย ในปี 2565 จะเพิ่มอีก 200 ราย และถึง 1,000 ราย ภายใน 5 ปี
2.ส่งเสริมทางฝั่งมหาวิทยาลัยเพราะการสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยความรู้ที่มีในมหาวิทยาลัยที่ทั้งประเทศจะมีอยู่กว่า 180 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยเป็นของรัฐ 80 แห่ง ซึ่งจำนวนนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีผลงารวิจัยมาก 10 แห่ง ขณะนี้กำลังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยตั้งโฮลดิ้งกัมปะนีระดมทุนจากภาคเอกชน และรายได้ของมหาวิทยาลัยไปลงทุนตั้งบริษัทเข้ามาผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมออกมาจำหน่าย
ขณะนี้มีเครือข่ายโฮลดิ้งอยู่ 5 แห่ง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มนี้จะเป็นแนวหน้าที่เริ่มมีเงินเข้าไปลงทุนในลักษณะเวนเจอร์แคปปิตอลเข้าไปลงทุน
“ขั้นแรกอาจไม่ต้องมีจำนวนมหาวิทยาลัยจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องลงทุนในมหาวิทยาลัยตัวเอง โดยจะมีโครงการนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ และไประดมทุนร่วมกับเอกชนภายนอกได้ ซึ่งที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และระดมเงินจากแหล่งอื่นเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ในอนาคตมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นจะช่วยสร้างนวัตกรรมได้ตามเป้าหมาย”
ส่วนการสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนต่างๆ จะมีหน่วยบริหารจัดการทุนที่เจาะลงตามพื้นที่ รัฐบาลมีเงินทุนลงไปปีละ 1 พันล้านบาท และหน่วยงานให้ทุนอื่น เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ หน่วยงานละเกือบ 1 พันล้านบาท ในปีนี้รัฐบาลได้ให้เงินส่วนหนึ่งเข้ามา 10,600 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน 6 หมื่นตำแหน่ง ช่วยให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใน 3 พันตำบล จะเข้าไปใช้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ
โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะเข้าไปช่วยยกระดัยปรับปรุงสินค้าท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เข้าไปส่งเสริมการทอผ้าและนำนาโนเทคโนโลยีสกัดกลินดอกไม่พื้นถิ่นในกระบวนการย้อม ทำให้มีกลิ่นอยู่ในเนื้อผ้านานหลายเดือน ทำให้ผ้าขายได้ราคาสูง ได้ให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นทำมาร์เก็ตเพรสแหล่งซื้อสินค้าท้องถิ่นด้วย
รวมทั้งยังให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเข้าไปวิจัยด้านสังคมในเรื่องวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ในพื้นที่ เพื่อจัดทำเรื่องราวท้องถิ่นเข้าไปในสินค้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว เพราะทุกพื้นที่มีประวัติศาสตร์ที่สามารถขายได้หมด ตลอดจนการเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับรูปแบบการผลิตให้เกิดการวางแผนหมุนเวียนทรัพยากร และเกิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (แชร์ริง อีโคโนมี) เช่น การนำของเสียมาผลิตเป็นสินค้า หรือพลังงาน การแบ่งปันเครื่องจักรการเกษตร