อุ่นเครื่อง ‘ความคิดถึง’ นับหนึ่งฟื้นต่างชาติเที่ยวไทย
ระหว่างรอการเปิดประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” อย่างใกล้ชิด เพื่อรอ “จังหวะ” และ “โอกาส” ในการทำตลาดที่เหมาะสม
ด้วยความสำคัญของรายได้รวมท่องเที่ยวไทยปี 2562 ซึ่งปิดที่ 3.01 ล้านล้านบาท จำนวน 2 ใน 3 ที่สูงถึง 1.93 ล้านล้านบาท มาจากฐานต่างชาติเที่ยวไทย 39.8 ล้านคน เมื่อถึงเวลานั้น ประเทศคู่แข่งทั้งหลายต่างเตรียมพร้อมที่จะลุยโปรโมชั่นกันอย่างเต็มที่
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การเปิดประเทศอย่างจำกัดและค่อยเป็นค่อยไปคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดยสิ่งที่ ททท.กำลังทำในตอนนี้คือการอุ่นเครื่อง “ความคิดถึง” ผ่านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมเพื่อให้ประเทศไทยยังติด “Top of Mind” หรือจุดหมายปลายทางในใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ
“ทันทีที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจนสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ประเทศไทยก็จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเดินทางเข้ามา”
นอกจากนี้ ททท.ยังต้องดำเนินกิจกรรมทางการตลาดแบบ “Save Partner” ดูแลพาร์ทเนอร์หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เพราะอย่าลืมว่าก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ททท.ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์มากมาย อาทิ เอเยนต์ ทัวร์โอเปอเรเตอร์ บริษัทผู้รับจัดบริการเดินทางที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย (Destination Management Company : DMC) และอื่นๆ ซึ่งช่วยขายสินค้าท่องเที่ยวไทย!
“ททท.ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด ด้วยการอัปเดตข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดี และเมื่อวิกฤติโควิด-19 จบลง พาร์ทเนอร์เหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญช่วยปั้นรายได้แก่ภาคท่องเที่ยวไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา”
ขณะเดียวกันสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศทั้ง 29 สำนักงานต้อง “ประเมินคู่แข่ง” ด้วยการรวบรวมข้อมูลของประเทศต่างๆ ว่ามีนโยบายการทำตลาดอย่างไร เพื่อ ททท.จะได้เตรียมตัวให้พร้อม เพราะเชื่อว่าหลังจบวิกฤติโควิด-19 คนที่คว้าโอกาสได้ก่อนคือ “ปลาเร็ว” การเก็บข้อมูลเอาไว้จะช่วยทำให้ “รู้เขารู้เรา” เข้าถึงโอกาสดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างรวดเร็ว
“เรื่องนี้สำคัญมากเช่นกัน เพราะทุกประเทศต่างรอคอยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร ทุกคนต่างรอคอยว่าจะกลับมาทำการค้าและธุรกิจได้เหมือนเดิมเมื่อไร ทำให้ทุกประเทศต่างเตรียมกลยุทธ์และนโยบายในการทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมอบหมายให้สำนักงาน ททท.ในต่างประเทศเก็บรวบรวมข้อมูลของคู่แข่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำตลาดอย่างเต็มที่”
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในใจนักท่องเที่ยวหรือ Top of Mind ททท.ได้ดำเนินการอย่างหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาสินค้าท่องเที่ยวไทย ยกตัวอย่างในภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ททท.สำนักงานลอนดอนอุ่นเครื่องความคิดถึงด้วยอาหารไทย จับมือกับสโมสร Oxford United Football Club (OUFC) เผยแพร่คลิป Pad Thai Party ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Eat Thai Visit Thai ที่สำนักงานลอนดอนร่วมกับเครือร้านอาหาร Rosa Thai Cafe และ OUFC ถ่ายคลิปทำผัดไทยเผยแพร่ทางยูทูบและเฟซบุ๊กซึ่งมีแฟนคลับติดตามหลายหมื่นคน
ด้าน ททท.สำนักงานปารีสร่วมกับพันธมิตรร้านอาหารไทยจำนวน 27 ร้านในฝรั่งเศส, 5 ร้านในเนเธอร์แลนด์ และอีก 2 ร้านในเบลเยียม จับทัชพอยต์คนรักอาหารไทย ด้วยการจัดทำถุงกระดาษรักษ์โลกสำหรับใส่อาหารแบบห่อกลับและดิลิเวอรี่ที่มีภาพแหล่งท่องเที่ยวไทยพร้อมคิวอาร์โค้ดที่ลิงก์ไปยังวิดีโอและทัวร์เสมือนจริง (Virtual Tour) ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ พร้อมแจกใบปลิวแนะนำสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯพร้อมคิวอาร์โค้ดนำไปสู่วิดีโอชุดผัดไทยของ ททท. นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักท่องเที่ยวผ่านวัสดุเผยแพร่แบบง่ายๆ แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจประเทศไทยและอาหารไทยได้เป็นอย่างดี
ฟากภูมิภาคอเมริกา ททท.สำนักงานลอสแอนเจลิส จับกลยุทธ์สร้างแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐ ด้วยการจัดกิจกรรม Amazing Thailand Drive in Theatre ฉายภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องดังจากค่ายจีดีเอช (GDH) ได้แก่ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ลัดดาแลนด์ และฉลาดเกมส์โกง แบบไดร์ฟ-อินครั้งแรกในแอลเอ...เมืองแห่งภาพยนตร์และความบันเทิงของสหรัฐ ภายใต้รูปแบบการจัดงานตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) โดยได้รับความร่วมมือจากร้าน Ayara Thai Cuisine นำเสนออาหารไทยภายในงานด้วย
ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ททท.สำนักงานปักกิ่ง ร่วมกับ Mafengwo แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีน เจ้าของฉายา Travel Bible of Young Generation ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างกระแส “Thailand The Top of Mind” ทั่วประเทศจีน เจาะเป้าหมายกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มครอบครัว และกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ด้วยกิจกรรมออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น (Local Experience) พร้อมจัดทำ Amazing Thailand Guideline นำเสนอประสบการณ์การเดินทางในประเทศไทย
ททท.สำนักงานกว่างโจว ชูจุดขายการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) โดยร่วมกับสื่อมวลชน Sina Guangdong และค่ายมวยไทยในกว่างโจว ประชาสัมพันธ์มวยไทยด้วยการรับสมัครแฟนคลับ 5 คนจาก TAT Guangzhou Sina Weibo มาร่วมกิจกรรมทดสอบมวยไทยและมวยจีน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในหัวข้อ “Legendary Muay Thai” ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Sina Weibo มีผู้เข้ารับชมมากกว่า 18 ล้านวิว
ขณะที่ ททท.สำนักงานโตเกียว จัดแคมเปญ “ช้างชวนช้าง” ให้ผู้สนใจสร้างสรรค์คลิปในแนวของตัวเองแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อลุ้นรับของรางวัลต่างๆ โดยกำหนดให้ใช้เพลง “ช้าง” 2 ภาษา (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเรียบเรียงโดย “แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข” ศิลปินชาวไทย สำหรับรางวัลชนะเลิศที่ได้รับการคัดเลือกโดย ททท.และแสตมป์คือแพ็กเกจท่องเที่ยวไทย มีโปรแกรมเดินทางไปเยี่ยมศูนย์ดูแลช้างชราที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับช้างในประเทศไทยภายใต้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ปิดท้ายด้วยตัวอย่างกิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ททท.สำนักงานมุมไบ จัดการประกวดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ ททท.อินเดียทั้งบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ภายใต้แนวคิด “Thaiventure” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งคลิปแสดงความต้องการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในประเทศไทย ผู้ชนะ 2 รายจะได้รางวัลเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในเส้นทางและกิจกรรมที่ส่งคลิปมา เป็นไปตามกลยุทธ์เจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลส์ของอินเดีย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลากหลายกิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ ททท.สำนักงานในต่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยยังคงติด “Top of Mind” สร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวเก็บกระเป๋ามาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย ทลายข้อจำกัดการเดินทางได้ในที่สุด!