'PTG' กางแผนธุรกิจใหม่ ดึงพันธมิตร 'CP Foton' รุกปั๊มชาร์จไฟฟ้า
“พีทีจี”เปิดตัวพันธมิตรปั๊มชาร์จไฟฟ้า เฟสแรก 5 แห่งช่วงต้นเดือนก.พ.เล็งขยายเป็น 30 แห่งสิ้นปี จ่อสรุปพันธมิตรรุกธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งในและนอกปั๊ม ลุ้นออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 6 เมกะวัตต์จ.สงขลา หลังได้รับคัดเลือกจากก.มหาดไทยแล้ว
นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ "PTG" เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ในปี 2564 โดยจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า(EV Charging Station) ในสถานีบริการ (ปั๊ม) น้ำมัน PT คาดว่า จะเปิดตัวได้ในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการ เฟสแรก จำนวน 5 แห่ง กระจายตามหัวเมืองที่จะรองรับการออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดของคนกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV)
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มจากความต้องการใช้ของกลุ่มคนในเมืองหลวงเป็นหลัก และมีแผนจะขยาย EV Charging Station เพิ่มเป็น 30 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) ทั้งหมด แห่งละไม่ต่ำกว่า 2 หัวจ่าย คาดว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อแห่ง
อีกทั้ง ยังมีแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุน EV Charging Station ประเภท ultra-fast charger บริเวณใกล้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) เพื่อรองรับการชาร์จกำลัง 400 กิโลวัตต์ขึ้นไป และต้องใช้เวลาชาร์จเร็วประมาณ 20-30 นาที สำหรับกลุ่มรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะต้องใช้เงินลงทุนต่อแห่งสูงประมาณ 40-50 ล้านบาท เพราะต้องสร้างจุดชาร์จใหม่ที่มีพื้นที่ประมาณ 5-10 ไร่ขึ้นไป และต้องมีความปลอดภัยสูง
“ตอนนี้เราก็คุย 2-3 ค่าย เช่น ซีพี โฟตอน เราก็คุย เรายืนยันความพร้อมการติดตั้งปั๊มชาร์จ ขอแค่มีรถพร้อมที่จะออกมาวิ่งใช้งาน และเอ็มจี เราก็คุยพร้อมซัพพอร์ต พยายามอยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ แต่ก็อยู่ที่ความพร้อมของตัวรถ ก็ยังต้องรอดูว่าจะสรุปความร่วมมือกับพันธมิตรรายใด และเมื่อไหร่”
นอกจากนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใช้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งในปั๊มน้ำมัน PT และนอกปั๊ม แต่ก็ยังต้องรอติดตามนโยบายของภาครัฐในระยะต่อไปด้วย ว่าจะกำหนดนโยบายส่งเสริมการติดตั้งอย่างไร เบื้องต้น คาดว่าจะมีความชัดเจนแผนการลงทุนได้ภายในปีนี้ โดยปัจจุบัน บริษัท ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาปั๊มน้ำมัน PT ไปแล้ว 33 แห่งในปั๊มน้ำมันที่มีรายจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่า 5 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งพบว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า
ขณะเดียวกันบริษัท ยังอยู่ระหว่างรอทางกระทรวงพลังงาน ประกาศนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม หลังจากบริษัทได้ผ่านตอนการคัดเลือกของกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสงขลาแล้ว
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า บริษัท ยังมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100-200 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมของพื้นที่ตั้งโรงงานแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินยื่นเรื่องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยโครงการนี้จะเป็นการลงทุนกับพันธมิตร เพื่อนำเอทานอลมาใช้เป็นส่วนในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนลิตรต่อวัน และในอนาคต 5 ปีข้างหน้า คาดว่า จะมีความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มเป็น 8 แสนลิตรต่อวันถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน
รวมถึง บริษัทยังเจรจากับพันธมิตรอีก 2 รายทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อลงทุนในโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ เฟสที่ 2 ที่มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไบโอดีเซล (B100) อีก 5 แสนลิตรต่อวัน จากปัจจุบันโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ เฟสแรก มีกำลังการผลิต B 100 อยู่ 5 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะขยายการลงทุนได้หลังจากนำบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PPPGC ที่ PTG ถือหุ้นในสัดส่วน 40% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 65 หรือ โครงการจะเกิดขึ้นได้เร็วสุดยังต้องใช้เวลาประมาณ 12-14 เดือน
“โครงการนี้ จะสร้างในพื้นที่เดิม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมและใช้เงินลงทุนถูกกว่าการไปสร้างพื้นที่ใหม่ แต่บริษัทก็อยู่ในจุดที่กำลังพิจารณาว่าจะไปอยู่ที่ B100 หรือจะอัพสู่โอลีโอ ที่เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางศ์ และยา เลยมองว่าพื้นที่ใหม่ควรเป็นภาคตะวันออก คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้”