เอกชนแนะรัฐปรับตัวสู้เวียดนาม อำนวยความสะดวกลงทุนในอีอีซี

เอกชนแนะรัฐปรับตัวสู้เวียดนาม  อำนวยความสะดวกลงทุนในอีอีซี

ทูตเวียดนาม เผย เศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่ง เตรียมทำแผนพัฒนา 10 ปี ดึงไทยร่วมลงทุน ด้านเอกชน ระบุ อีอีซี ไทยยังเสียเปรียบเวียดนาม ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มแรงดึงดูดการลงทุน ด้าน อมตะ ขยายการลงทุนนิคมฯ เล็งผุดแห่งที่ 3 ในภาคกลาง

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) เชิงบวก ที่มีการเติบโตถึง 2.91 % ในปี 2020 เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2564 สดใสโดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น World Bank, International Monetary Fund, Asian Development Bank คาดการณ์ไว้ว่า GDP จะเติบโตอยู่ที่ 6.5-7.0%

“ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน และที่สำคัญเวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยปัจจุบันนักลงทุนชาวไทยเข้ามาในประเทศเวียดนามเวียดนามถึง 603 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 13 พันล้านดอลลาร์หรือ 4.1 แสนล้านบาทจัดอยู่ที่ลำดับ 9 ที่มีเข้ามายังเวียดนาม และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 7 ในปีที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตามในอีก 5 ปี 2564-2568 ข้างหน้ารัฐบาลเวียดนามได้วางแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ปี 2564-2573 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติเวียดนามที่คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านดอลลาร์ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านดอลลาร์ และให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

ส่วนศักยภาพการดึงดูดการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค แต่ไทยยังเสียเปรียบเวียดนามในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ที่รัฐบาลเวียดนามทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า และมีการติดตามผลที่ดี เช่นที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามเจรจาดึงดูด ซัมซุง จากเกาหลีใต้เข้าไปลงทุน สามารถแก้ไขอุปสรรคและให้สิทธิประโยชน์เอื้อต่อการลงทุนได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งกฎหมายของเวียดนามปรับเปลี่ยนได้เร็วทันต่อสถานการณ์ตรงกับความต้องการของนักลงทุน รวมทั้งยังมีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถึง 17 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศ แต่ไทยแม้แต่เรื่องข้อตกลง ซีพีทีพีพี ก็ไปไม่ถึงไหน ทำให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากกว่า

  161166538654

“อีอีซี แม้จะมีทำเลที่ดีที่สุด แต่ติดข้อจำกับการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะมีอำนาจพิเศษแต่การบริหารงานก็ยังคงเป็นแบบไซโลที่ต้องขึ้นกับกระทรวงต่าง ๆ จึงทำงานและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำได้ล่าช้าขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามให้ผู้ว่าแต่ละจังหวัดมีอำนาจเต็มที่ส่งเสริมให้แข่งขันกันทำงาน และรัฐบาลกลางเป็นผู้ตรวจสอบประสิทธิภาพ จึงทำงานได้รวดเร็ว”

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียนนามก็ได้ส่งเสริมให้พื้นที่ภาคเหนือส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมสีเขียวเหมือนกันนโยบาย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย จึงเป็นการแข่งขันกับไทยโดยตรง ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง จะอยู่ในภาคใต้ของเวียดนาม ทำให้ดึงดูดได้ทั้งอุตสาหกรรมไฮเทคที่เน้นในด้านอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ในภาพรวมแล้ว อีอีซี ของไทยยังเสียเปรียบเวียดนามอยู่ ซึ่งแนวทางการแก้ไขรัฐบาลไทยจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น”

161167130329

อย่างไรก็ตาม ไทยกับเวียดนามควรจับมือไปด้วยกัน เพราะเวียดนามเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปเวียดนาม 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ นำเข้าจากเวียดนามกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งไทยควรจะไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เพราะไทยขาดแคลนแรงงานมาก จำทำให้ทั้ง 2 ประเทศเติบโตร่วมกันในอนาคต

ในส่วนของภาคเอกชน ได้เตรียมที่จะตั้งหาการค้าไทยในเวียดนามขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยในการเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนาม ทำให้ไม่มีกำลังพอในการเจรจาต่อรองเหมือนกับประเทศอื่น ซึ่งในปีนี้จะเจรจากับนักลงทุนไทยในเวียดนาม เพื่อก่อตั้งหอการค้าให้เร็วที่สุด

นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. อมตะวีเอ็น กล่าวว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะเข้าไปลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบันอมตะมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอยู่ทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของเวียดนาม มีทั้งหมด 6 โครงการรวมพื้นที่พัฒนา 15,625 ไร่ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 840 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 27,200 ล้านบาท

ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาสังคม – เศรษฐกิจ อมตะวีเอ็นก็ได้วางเป้าหมายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งแนวคิดเมืองอัจฉริยะครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน ชุมชน การผลิต การขนส่งและคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งมีความสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศของเวียดนามอีกด้วย

“อมตะวีเอ็นยังมีแผนที่จะร่วมมือกับพันธมิตร 2 บริษัทจากเอเชียตั้งนิคมฯในภาคกลางที่เมืองดานัง มีพื้นที่ประมาณ 3 พันไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้”