คลังหั่นจีดีพีปีนี้โต2.8% สแตนชาร์ตหวังวัคซีนฟื้นศก.
สศค.ลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% จาก 4.5% เนื่องจากรายได้ท่องเที่ยวยังพลาดเป้า ขณะที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ชี้วัคซีนจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.1%
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง แถลงว่า สศค.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ในปีนี้เหลือขยายตัว 2.8% มีช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 4.5%
ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดการณ์ว่า จะลดลงเหลือ 5 ล้านคน รายได้เหลือ 2.6 แสนล้านบาท จากคาดการณ์เดิม 8 ล้านคน รายได้ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท
“แม้กิจกรรมเศรษฐกิจเราจะยังคงมีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ มาตรการการเงินผ่านแบงก์รัฐและการเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และการส่งออกที่คาดการณ์จะดีขึ้นในปีนี้ แต่ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบมาก คือ การท่องเที่ยวของต่างชาติที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 โดยการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ยังเป็นไปค่อยเป็นค่อยไป โดยมีความเสี่ยงที่เข้ามากระทบคือ โควิด-19 และความสำเร็จของวัคซีน”
สศค.คาดการณ์การส่งออกปีนี้ขยายตัว 6.2% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 6% โดยเป็นผลจากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวดีขึ้นที่ 5.2% ปัจจัยสำคัญ คือ การควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ บวกกับฐานการขยายตัวปีที่แล้วต่ำ ส่วนการบริโภคเอกชนคาดการณ์ขยายตัว 2.5% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.4% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 6.1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.1%
สมมติฐานของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.1% เป็น 5.2% เป็นผลการคาดการณ์การฟื้นตัวของหลายประเทศ อาทิ สหรัฐการขยายตัว 4% จีน 8.6% ญี่ปุ่น 2.5% ยุโรป 4.1% และเวียดนาม 6.8% ส่วนปี 2563 คาดการณ์เศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าขยายตัวติดลบที่ 3.6% สาเหตุหลักจากการระบาดของโควิด-19
2.ค่าเงินบาทปีนี้ที่คาดแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29.9 บาทต่อดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.5% เทียบจากปี 2563จากการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ที่มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดประเทศเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า บวกกับดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่ต่ำ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทยสูงกว่า จึงมีโอกาสที่จะเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าไทยได้ บวกกับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมองไทยน่าลงทุน
3.ราคาน้ำมันดิบดูไบคาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยที่ 50.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 19.5% 4 .จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดการณ์จะลดลงเหลือ 5 ล้านคน จาก 8 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจำนวนดังกล่าวจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 5.รายจ่ายสาธารณะคาดการณ์จะเบิกจ่ายได้ 3.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีก่อน
สำหรับการคาดการณ์จีดีพีในปี 2563 สศค.คาดการณ์ขยายตัวติดลบลดลงเหลือ 6.5% จากเดิมขยายตัวติดลบ 7.7% เหตุผลสำคัญคือ ภาครัฐสามารถคุมการระบาดโควิด-19 ได้ บวกกับรัฐบาลได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3-4 ขยายตัวดีขึ้น ส่วนการส่งออกหดตัวลดลงเหลือติดลบ 6.6% จากเดิมติดลบ 7.8%
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1% แม้จะสูงกว่าประมาณการของหลายแห่ง แต่เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากข่าววัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่หรือโควิด-19 ของภาครัฐที่จะเริ่มเข้ามาฉีดให้กับคนไทยได้ 14 ก.พ.นี้ จนครบสิ้นปีที่คาดว่า 30 ล้านคน
ขณะเดียวกันล่าสุดรัฐบาลมีการเปิดโอกาสให้เอกชน มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าการกระจายวัคซีน อาจกระจายรวดเร็วกว่าที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ หากเอกชนมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศในประเทศกลับมาดีขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจที่ 3.1% ถือว่ามีความเป็นไปได้
ทางกลับกันหากไม่สามารถคุมโควิด-19 ได้จนนำไปสู่ล็อกดาวน์ประเทศ 2-3 เดือนเหมือนรอบแรก คาดกระทบจีดีพีราว 3% อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวติดลบได้
อย่างไรก็ตาม ปี 2565 สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% จากความกังวลหลายด้าน
ด้านแรกคือ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐลดลง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19รอบสอง โดยใช้งบเยียวยาเพียงระดับ 2 แสนล้านบาท ลดลงหากเทียบกับเยียวยารอบแรกที่ใช้งบเยียวยาถึง 4 แสนล้านบาท ดังนั้นหนุนการบริโภคหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ได้มากนัก
ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันเริ่มเข้าใกล้สู่เพดานที่รัฐกำหนดที่ 60% ปัจจุบันอยู่ที่ 50% โดยภาครัฐคาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะขึ้นไปสู่ 57% ซึ่งเริ่มมีกรอบจำกัดมากขึ้น จึงทำให้ไม่มั่นใจว่าปี 2565 นโยบายการคลังในการใช้กระตุ้นหรือเยียวยาเศรษฐกิจจะมีต่อเนื่องหรือไม่
ด้านที่ 2 ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี กว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ 40 ล้านคนเหมือนก่อนโควิด
ด้านที่ 3 ภาคการลงทุน ยังขาดการขับเคลื่อน ดังนั้นอยากเห็นการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐในโครงการใหญ่ๆในอีอีซีต่อเนื่อง เพื่อหนุนการลงทุนของเอกชนให้กลับมาบวกได้ และด้านที่ 4 ปัจจัยทางการเมืองที่จะมีการอภิปรายไม่วางใจในเดือนหน้า ส่วนการเมืองนอกสภามีความไม่แน่นอน
“4 ปัจจัยข้างต้นทำให้ยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจระยะข้างหน้า จึงมีมุมมองแบบระมัดระวังไว้ก่อน”
สำหรับการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 3 ก.พ.นี้ และคงดอกเบี้ยทั้งปี แต่การลดดอกเบี้ยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ กรณีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักมากขึ้น จากการควบคุมโควิด-19 จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ การเมืองพัฒนาไปสู่จุดที่รุนแรงมากขึ้น จนภาครัฐไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ส่วนทิศทางค่าเงินบาท เชื่อว่ายังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่ากลางปีค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปีค่าเงินบาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์