'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐปรับแผนให้วัคซีนโควิดกลุ่มเปราะบางก่อนลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
'ทีดีอาร์ไอ' มองผลกระทบเศรษฐกิจโควิดระลอก2 กระทบเศรษฐกิจน้อยกว่าระยะแรก แต่ห่วงกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบมาก แนะรัฐปรับแผนให้วัคซีนโควิดกลุ่มเปราะบางก่อนลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่าผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2563 ที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและแม้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าในระยะแรกเนื่องจากภาครัฐไม่คุมเข้มอย่างรอบที่แล้วและส่งผลให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเบาบางกว่า
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะดูดีกว่า แต่หากเจาะจงไปที่บางภาคเศรษฐกิจและบางกลุ่มประชากร ยังน่าเป็นห่วงธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการณ์ว่าการระบาดระลอกสองจะกระทบแรงงานจำนวน 4.7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 1.1 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน และอีก 3.6 ล้านคนมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า เงินออมโดยรวมที่เคยเพิ่มขึ้นหลังการระบาดระลอกแรก (ส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ) มีแนวโน้มลดลงท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจแสดงถึงความสามารถในการรองรับผลกระทบน้อยลงสำหรับประชาชนบางกลุ่ม
โดยผลทางเศรษฐกิจที่ลากยาวและรุนแรงสำหรับคนบางกลุ่ม จะส่งผลกระทบด้านสังคมที่จะตามมาอีกหลากหลาย โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง การศึกษาก่อนหน้าพบว่า กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นตั้งแต่ระลอกแรก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หารายได้หลักในครอบครัวกลุ่มเปราะบางมักทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงของการทำงานและรายได้เป็นปกติอยู่แล้วก่อนเกิดการระบาด จึงมักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกกระทบแรงในแง่การสูญเสียรายได้ ส่วนด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น เช่นเด็กในครอบครัวยากจนมีความสามารถในการเรียนรู้ออนไลน์น้อยกว่าเด็กฐานะดี ผู้ปกครองก็มีความพร้อมและความสามารถในการเรียนร่วมกับลูกน้อยกว่า คนแก่ที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวเปราะบางก็เข้าถึงบริการทางการแพทย์ลดลงมากกว่า เป็นต้น
จากข้อพิจารณาข้างต้นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการ ประกอบด้วย
ประการที่หนึ่ง ควรเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดระลอกสอง ทั้งความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ ทางเลือกของเขาเหล่านั้นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยเพียงใด มาตรการของภาครัฐอะไรบ้างที่ช่วยเขาได้ มาตรการอะไรที่อาจช่วยเขาได้แต่เขาไม่ได้หรือยังไม่ได้ และเพราะเหตุใดจึงไม่ได้หรือได้ช้า เป็นต้น
ประการที่สอง รัฐบาล ‘ต้อง’ มีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดแผลเป็น โดยควรเป็นมาตรการที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากการให้เป็นเงิน เช่นการดูแลให้เข้าถึงบริการภาครัฐด้านต่าง ๆ เช่นการจ้างงาน การดูแลสุขภาพ การช่วยดูแลบุตรหลานให้เรียนรู้ออนไลน์ได้มากขึ้น การเข้าถึงบริการเหล่านี้ต้องเป็นไปโดยไม่ตกหล่น หรือควรเข้าถึงมากขึ้นกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำ การป้องกันการตกหล่นอาจใช้ทั้งกลไกภาครัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปในการแจ้งให้ภาครัฐทราบกรณีพบเห็นกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือและเยียวยา
ประการที่สามรัฐควรมีมาตรการเฝ้าระวัง (monitoring) การเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผลเป็นหมายถึงกิจการหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสฟื้นตัวแม้การระบาดจะหายไป ตัวอย่างเช่นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีเงินทุนจะเริ่มกิจการใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างถาวรและไม่มีโอกาสได้รับการจ้างงานใหม่ เป็นต้น คาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะทับซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่กล่าวถึง และเมื่อพบแผลเป็นเหล่านี้แล้ว ก็ต้องเร่งออกมาตรการในการบรรเทาความทุกข์ร้อนและประคับประคองให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและฟื้นฟูทางสังคมควบคู่กันไป
ประการที่สี่ รัฐอาจควรพิจารณาให้วัคซีนกับกลุ่มเปราะบางเร็วกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุผลว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากการขาดรายได้ได้มากนัก การได้รับวัคซีนก่อนจะมีผลทำให้ความเสี่ยงนี้ลดน้อยลง
และประการที่ห้า ในระยะยาว ประเทศไทยต้องทำการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (social protection) ที่คำนึงถึงการได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องและรุนแรงของกลุ่มเปราะบางและผู้ที่จะกลายเป็นแผลเป็นจากการระบาด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องการการออกแบบที่เหมาะสม ดังจะกล่าวถึงในบทความฉบับต่อไป