แผนฟื้นฟู ขสมก. กับความหวังพลิกกิจการใน 7 ปี
แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีความมั่นใจว่าจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ก.พ.นี
ภายหลังจากที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งมอบการบ้านให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยปัจจุบัน สศช.ออกมาระบุแล้วว่าไม่ได้คัดค้าน
เจาะลึกถึงแผนฟื้นฟูฉบับนี้ จะมีการเสนอขอความเห็นชอบใน 7 ประเด็น
1.ปฏิรูประบบรถรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายหลัก จำนวน 162 เส้นทาง และให้ ขสมก.บริหารจัดการเดินรถตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ ให้ ขบ. พิจารณาปรับปรุงเส้นทางให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ให้ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งในอนาคตต่อไป
2.ให้ ขสมก. มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางที่มีการกำหนดใหม่หรือเส้นทางเดินรถที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก่อนผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น ในกรณีที่ ขสมก.ไม่ประสงค์เดินรถในเส้นทางดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป
3.นโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ให้ ขสมก.จัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Single price) ในอัตรา 30 บาทต่อคนต่อวันไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยในอนาคตอาจปรับเพิ่มหรือลดอัตราค่าโดยสารเพื่อให้เหมาะสม กับสถานการณ์และภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.เสนอขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2562 ที่เห็นชอบในหลักการของแผน ฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับเดิม) เป็นเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดยให้ ขสมก. เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชน เดินรถให้บริการ (รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน
5.อนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด
6.อนุมัติในหลักการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของ ขสมก. เมื่อ Ebitda เป็นบวก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป
7.อนุมัติหลักการเพื่อขอสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จำนวน 7 ปี โดยเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ผลการดำเนินงานของ ขสมก.จากการตรวจสอบพบว่ามีการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2519 จนกระทั่งปัจจุบันในปี 2564 โดยมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละกว่า 360 ล้านบาท และยังมีภาระหนี้สินจากการออกพันธบัตร และหนี้เงินกู้ รวมกว่า 1.27 แสนล้านบาท อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ขสมก.ต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในเรื่องของเงินอุดหนุนบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของ ขสมก. รวมกว่า 2.47 พันล้านบาท แบ่งเป็น
- การปรับปรุงวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากวงเงินเดิม 1,775.653 ล้านบาท เป็น 1,917.380 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 141.727 ล้านบาท) ตามมติคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563
- กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2,338.266 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 และครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563
ด้วยภาระหนี้สินของ ขสมก.และเงินงบประมาณที่รัฐตต้องนำไปอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่อยู่ระหว่างผลักดันครั้งนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยพลิกฟื้นกิจการ ตามคำกล่าวของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีความมั่นใจถึงผลการดำเนินงานด้วยว่า “ปัจจุบัน ขสมก.มีปัญหาสถานะทางการเงิน มีหนี้สะสม 1.27 แสนล้านบาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟู ขสมก.จะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลรวม 9,674 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2565-2571 เพื่อให้ ขสมก.เลี้ยงตัวเองได้ โดยตั้งเป้าว่าตั้งแต่ปี 2572 ขสมก. จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยมี EBITDA เป็นบวก