สถิติแบงก์ล่ม ปี63กรุงศรี-กสิกรแชมป์
ธปท.เปิดสถิติระบบขัดข้องปี 63 พบระบบขัดข้องรวม 4 ช่องทาง โมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม สาขารวม 108 ครั้ง แบ่งเป็นโมบายแบงกิ้ง 46 ครั้ง ล่มรวมนานสุด 22 ชั่วโมง โดยพบแบงก์ที่เจอระบบขัดข้องมากที่สุดคือ กรุงศรี 24 ครั้ง และกสิกรไทย 19 ครั้ง
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปิดเผยสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ ทั้งโมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม เครื่องอีดีซี และผ่านช่องทางสาขา ในไตรมาส 4 และปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยจากสถิติพบว่า ระบบเทคโนโลยีฯของแบงก์ทั้งปี อยู่ที่ 108 ครั้งผ่านช่องทางทั้งหมด โดยแบ่งเป็นระบบขัดข้องผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งที่ 46 ครั้ง
ทั้งนี้หากดูข้อมูลรายแบงก์พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ที่ขัดข้องมากที่สุดในปี 2563 ได้ แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) โดยระบบขัดข้องรวมกัน ทั้งช่องทางโมบายแบงกิ้ง สาขา ตู้เอทีเอ็ม เครื่องอีดีซี อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งรวมกันมากที่สุดอยู่ที่ 24 ครั้ง โดยแบ่งเป็นช่องทางโมบายแบงกิ้งที่ 8 ครั้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 7 ครั้ง เอทีเอ็ม/อีดีซี 7 ครั้ง และช่องทางสาขาที่ 2 ครั้ง
ถัดมาคือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยระบบขัดข้องทั้งสิ้น 19 ครั้ง โดยแบ่งเป็นโมบายแบงกิ้ง 8 ที่ 8 ครั้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งที่ 6 ครั้ง เอทีเอ็มและอีดีซี 5 อันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ระบบขัดข้องทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยแบ่งเป็นโมบายแบงกิ้ง 11 ครั้ง ทั้งนี้พบว่าแบงก์ที่ไม่มีระบบขัดข้องเลยทั้งปี 2563 คือ ธนาคารธนชาต
อย่างไรก็ตามหากแยกดูเฉพาะข้อมูลระบบขัดข้องของโมบายแบงกิ้ง พบว่า แบงก์ที่มีระบบขัดข้องนานที่สุดในปี 2563 คือธนาคารกรุงเทพ โดยระบบขัดข้องสูงสุดถึง 22 ชั่วโมง ในไตรมาส 1 ปี 2563
ทั้งนี้หากดูเฉพาะไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้องอยู่ที่ 18 ครั้ง ลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับระบบขัดข้องในไตรมาส 3 ปี 2563 ที่อยู่ 27 ครั้ง โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง ลดลงเหลือ 9 ครั้ง จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ราว 12 ครั้ง
ก่อนหน้านี้นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน.ธปท. กล่าวว่า หากดูการทำธุรกรรมดิจิทัลของระบบธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันเห็นอัตราการล่ม หรือปัญหาการขัดข้องบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน้อยลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หลังแบงก์ได้ยกระดับการให้บริการบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับธุรกรรมบนดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเร็ว
ขณะเดียวกันทุกเดือน ธปท.และแบงก์พาณิชย์ก็มีการติดตามธุรกรรมบนดิจิทัลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น โดยสิ่งที่ธปท.อยากเห็นในระยะข้างหน้าคือ การเพิ่มความสามารถในการรองรับธุรกรรมบนดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วและต่อเนื่อง และการบริหารจัดการ เช่นกระบวนการจัดคิวในการทำธุรกรรมบนดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพขึ้น