ต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ปี 63 หอบเงินเข้ามาลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ไทยเนื้อหอม ปี 63 ต่างชาติ 252 ราย เข้าลงทุนได้ภายใต้พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว หอบเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้าน จ้างงานคนไทยกว่า 11,000 คน ญี่ปุ่นนำโด่งลงทุนอันดับ 1 คาดปี 64 แนวโน้มยังสดใส
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวนทั้งสิ้น 252 ราย โดยประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด จำนวน 92 ราย(คิดเป็น 36% รองลงมา คือ สิงคโปร์ จำนวน 38 ราย คิดเป็น 15% อันดับ 3 คือเนเธอร์แลนด์และฮ่องกง ที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนเท่ากัน 17 ราย คิดเป็น 17% อันดับที่ 4 คือ เกาหลีใต้ จำนวน 10 ราย คิดเป็น 4% และอื่นๆ จำนวน 78 ราย คิดเป็น31% โดยการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ปี 2563 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่จำนวน 35 ราย หรือ เพิ่มขึ้น16.13%
สำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เช่น บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่และสาธารณูปโภค รับจ้างผลิตสินค้า ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,279 ล้านบาท คิดเป็น 40%รองลงมา คือ ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง เช่น นายหน้าประกันชีวิตประกันวินาศภัย ค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องกล อะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ค้าส่งเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 994 ล้านบาท คิดเป็น19% อันดับ 3 ธุรกิจบริการอื่น เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้คำปรึกษาแนะนำ บริการทางการเงิน ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 456 ล้านบาท คิดเป็น 14%
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและมีมูลค่าการลงทุนสูง จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น บริการทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อควบคุมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา (EEC) บริการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยของอาคารเทียบเครื่องบิน บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เป็นต้น รวมถึง เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) อย่างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เช่น บริการออกแบบ ติดตั้ง วางระบบแพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการกับผู้บริโภค บริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
“จากการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยของนักลงทุนชาวต่างชาติดังกล่าว ทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 11,000 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน”
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2543 – 2563 หรือ 21 ปี ไทยมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ จำนวนทั้งสิ้น 5,824 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 323,779 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2,240 ราย คิดเป็น 38% รองลงมา คือ สิงคโปร์ จำนวน 872 ราย คิดเป็น 15% ฮ่องกง จำนวน 311 ราย คิดเป็น 6 % เยอรมนี จำนวน 294 ราย คิดเป็น 5% เนเธอร์แลนด์ จำนวน 258 ราย คิดเป็น 4% และอื่นๆ จำนวน 1,846 ราย คิดเป็น 32 % สำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทน/ภูมิภาค จำนวน 1,481 ราย รองลงมา คือ ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 650 ราย ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ/เอกชน จำนวน 613 ราย) และ บริการอื่นๆ จำนวน 3,080 ราย
ทั้งนี้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทย ปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและออกมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การออกมาตรการจูงใจเป็นพิเศษสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้ง มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนชาวต่างชาติเกี่ยวกับศักยภาพด้านการสาธารณสุขของไทยในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ส่วนในปี 2564 มั่นใจว่า ชาวต่างชาติยังคงเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายและเศรษฐกิจที่ผันผวนทั่วโลก โดยธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนและคาดว่าจะเติบโตนั้นจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ในยุค New Normal ที่ทำให้ธุรกิจด้านดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจด้าน e-Commerce ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในระบบ supply chain ขยายตัวตามไปด้วย อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการคลังสินค้า ธุรกิจพัฒนาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ธุรกิจบริการสั่งสินค้าออนไลน์ ธุรกิจบริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นต้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบของธุรกิจที่ลงทุนจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคมากขึ้น