'จีเอสพี' ปมการค้าสหรัฐที่รอการพิสูจน์
การเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐแม้จะเกิดแรงกระเพื่อมด้านต่างๆ ท่ามกลางท่าทีและนโยบายแบบคนละขั้นกับผู้นำคนก่อน แต่ในแง่การค้าระหว่างประเทศสหรัฐไม่น่าจะมีท่าทีที่เปลี่ยนไปมาก เพราะ “ผลประโยชน์ประเทศ” น่าจะยังคงเป็นหลักการเดิมที่ไม่ว่าผู้นำคนไหนก็จะต้องยึดถือ
สำหรับประเทศไทย ที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ต่างกันลิบลับทำให้ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับสหรัฐ แต่ก็ใช่ว่าสองประเทศจะไม่มีปมเห็นต่างทางการค้าเลย
ล่าสุด สหรัฐ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไปหรือ GSP ที่ย่อมาจากGeneralized System of Preferences เป็นสิทธิทางการค้าแบบให้ฝ่ายเดียว มีผลวันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป และไทยใช้สิทธิมากที่สุด
โดยกรมการค้าต่างประเทศ ประเมินว่าสาเหตุมาจากการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐ เห็นว่าการเปิดตลาดของไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน การตัดสิทธิดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหรัฐ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา หากสหรัฐต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐ จะให้สิทธิย้อนหลัง
ด้านภาคเอกชนระบุว่าการค้าไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐเพราะหลังกรณีสงครามการค้าทำให้มีทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดสหรัฐมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา