'ราช กรุ๊ป' เร่งเคลียร์ปัญหา ลาวจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นเงินกีบ
“ราช กรุ๊ป” เลื่อนเป้ากำลังผลิตไฟ 1 หมื่นเมกะวัตต์จากปี 66 เป็นปี 68 หวังปีนี้ปิดดีล 5 โครงการ ดันเพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ “ลาว” ขอเปลี่ยนสกุลเงินค่าไฟจากดอลลาร์เป็นกีบ 1 ล้านดอลลาร์ ปรับแผนนำไปใช้กับโครงการในลาว
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า กรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ทำหนังสือขอชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้ามายังผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าในลาวนั้น คาดว่า มีผลกระทบต่อบริษัทเล็กน้อย ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีสัญญาสัมปทานครอบคลุมไว้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันลาวยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับบริษัท แต่อาจมีประเด็นในส่วนของลาวที่แจ้งเข้ามาว่า ไม่สามารถจัดหาเงินสกุลดอลลาร์ได้ จึงขอเปลี่ยนมาจ่ายในรูปแบบของเงินกีบแทน ซึ่งในส่วนคิดเป็นวงเงิน ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มจ่ายประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า
ดังนั้น บริษัทก็จะบริหารจัดการโดยการนำเงินกีบดังกล่าว ไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการโครงการในลาว เช่น โครงการในหงสา ที่มีคอนแทรคเตอร์จำนวนมากก็จะขอนำเงินในส่วนนี้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายแทน ซึ่งก็เจรจากับเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในวิสัยที่บริษัทยอมรับได้
นอกจากนี้ ในปี 2564 บริษัท ได้จัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเดิมและโครงการใหม่ โดยตั้งเป้าหมายขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์
พร้อมทั้งได้จัดสรรเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ไว้ 7,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว ประมาณ350 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทฯให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโตโดยปัจจุบัน บริษัท มีโครงการในมือทั้งสิ้น 8,174 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม บริษัท จะเดินหน้าแสวงหาการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทนเป็น 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลได้ นอกจากนี้ก็จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย
“บริษัทฯ คาดหวังว่าภายในปีนี้ จะสามารถปิดดีลได้อย่างน้อย 5 โครงการเช่นเดียวกับปี 2563 โดยช่วงครึ่งปีแรกจะปิดดีลได้ประมาณ 2 โครงการ ขณะเดียวกับบริษัทฯ ยังขยับเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือแตะ 10,000 เมกะวัตต์จากปี 2566 เป็นปี 2568 แทน เพื่อให้สอดรับกับการลงทุนในอนาคตหลังโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไตรเอนเนอจี้ กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ จะหมดอายุในปี 2568”
ส่วนธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้ โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งในประเทศและในลาว และโครงการจัดหาเชื้อพลิงแอลเอ็นจี โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทฯ ได้จัดเตรียมวางแผนการจัดหาเงินไว้พร้อมแล้ว และมั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 คาดว่า จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ที่แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เพราะยังมีรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่
โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%) ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์ จะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด
นายกิจจา กล่าวอีกว่า บริษัท ยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 2 โครงการ กำลังการผลิต 3- 6 เมกะวัตต์ต่อแห่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
อีกทั้งยังสนใจเข้าร่วมประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid ) ขนาด 24 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรอโอกาสเข้าร่วมลงทุนโครงการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ของกองทัพบก ที่อยู่ระหว่างศึกษานำพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมกว่า 4.5 ล้านไร่