'ททท.' เล็งดึง 'คริปโต' ญี่ปุ่น ฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิด
ภาคท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป! การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงต้องปรับกลยุทธ์มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูงอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ส่งแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ททท.ได้หารือกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลุ่มถือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโตเคอร์เรนซี่” เช่น บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เข้ามาเที่ยวไทย รองรับการเติบโตของคริปโตฯในอนาคต และใช้เทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย หากสามารถดำเนินการได้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถใช้คริปโตฯเที่ยวและใช้จ่ายในเมืองไทยได้
“ประเทศไทยน่าจะมีความเป็นไปได้ในการดึงนักท่องเที่ยวผู้ถือคริปโตฯเป็นประเทศแรกของโลก และเป้าหมายแรกที่ ททท.จะดึงเข้ามาคือตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น”
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ประชากรญี่ปุ่นถือบิตคอยน์มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ครองสัดส่วนมากถึง 11% ของประชากร เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งมีอัตราเพียง 7% ของประชากร โดยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง เนื่องจากสามารถทำกำไรได้มากจากการซื้อขายคริปโตฯในช่วงที่ผ่านมา
“ขณะนี้การใช้คริปโตเคอเรนซี่เพื่อซื้อสินค้าในญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้เข้าร่วมรับการจ่ายเงินคริปโตฯ หลายร้านมีกำไรจำนวนมาก หากไทยสามารถเปิดรับคริปโตฯได้ จะถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ไม่แน่ว่าผู้มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการลงทุนเงินดิจิทัลบิตคอยน์อย่าง อีลอน มัสก์ นักธุรกิจมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า เทสลา อาจจะอยากมาเที่ยวไทยก็ได้หลังการระบาดของโควิด-19 จบลง”
และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ “ล้มแล้วลุกไว” ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ททท.จึงต้องปรับกลยุทธ์มุ่ง “จับปลาใหญ่” ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มคนที่ถือคริปโตฯจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ ททท.จะเร่งศึกษาความเป็นไปได้
“ททท.จะขอหารือกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงความเป็นไปได้ว่าหากกลุ่มผู้ถือคริปโตฯเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย จะมีกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวใดบ้างร่วมรับคริปโตฯที่มีอัตราการเติบโตสูง”
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มคนที่ถือคริปโตฯจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวย มีกำลังซื้อสูง เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง หากเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปมากขึ้น แต่จุดที่ต้องระวังอย่างยิ่งคืออาจมีบริษัทหรือกลุ่มคนมาสวมรอยใช้ประโยชน์ในทางมิชอบจากภาคท่องเที่ยวไทยซึ่งเตรียมเปิดรองรับการใช้คริปโตฯเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมฟอกเงิน จึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น!
ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดจากการหารือกับ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ททท.ได้ตัดสินใจ “ปรับลด” เป้าจำนวนและรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 มาอยู่ที่ 8 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 4.28 แสนล้านบาท ลดลงจากก่อนหน้านี้ซึ่งเคยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 10 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 5 แสนล้านบาท
แต่เพื่อ “คงเป้า” รายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปีนี้ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ททท.จึงได้ปรับเพิ่มเป้าจำนวนและรายได้ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศเป็น 150 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 8.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมซึ่งเคยตั้งไว้ที่ 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 7 แสนล้านบาท
ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2565 ยังคงเป้าเดิมที่ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% ของรายได้รวมเมื่อปี 2562 โดยแบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 20.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดในประเทศ ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท