'ไทยยูเนี่ยน' ปรับแผนรับโควิดเล็งซื้อกิจการอ่อนแอในปี 65
ไทยยูเนี่ยน ปรับแผน 5 ปี เพิ่มเงินลงทุน ปีละ 6.5 พันล้าน ปี 65 เล็งกว้านซื้อบริษัทอ่อนแอจากโควิด คาดเห็นชัดในครึ่งปีหลังนี้ พร้อมดึงกัญชาผสมสินค้านวัตกรรม
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า แม้จะมีโควิดระบาดทั่วโลก แต่รายได้ของบริษัทฯ ยังเป็นไปตามแผน 5 ปี( 2564-2568 ) ที่มีเป้าหมาย ผลประกอบการเติบโตเฉลี่ย 5 % ต่อปี ซึ่งในปี 63 ไทยยูเนี่ยนมียอดขายอยู่ที่ระดับ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9 % มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7 % โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผล 40 สตางค์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 81.8% รวมทั้งปีปันผล 72 สตางค์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 53.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“ผลประกอบการปี 63 ถือว่าเติบโตดีที่สุดเป็นประวัติการของทียู กำไรขั้นต้นเติบโตถึง16.4 % ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าโควิดมีส่วนผลักดัน แต่ผมคิดว่าเกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่ระบาดใหม่ๆ เท่านั้น ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารแช่เยือกแข็งกว่า 6 % ในขณะที่ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้น ในภาพรวมผมว่าผลประกอบการที่ดีนั้นเป็นเพราะทียู เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าได้เป็นอย่างดีมากกว่า”
โดยในช่วงที่ ทียู แย่ที่สุด ปี 2558-62 บริษัทได้ใช้วิธีการบริหารต้นทุน ด้วยการยุบรวมออฟฟิศในสหรัฐอเมริกา1 แห่ง ที่สหภาพยุโรปหรืออียู 2 แห่ง และยกเลิกโรงงานในไทยที่ปากพนัง เนื่องจากวัตถุดิบไม่พอ รวมทั้งทุกโรงงานที่มีอยู่ได้ปรับปรุง นำระบบออโตเมติก โรบอต AI เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ต้นทุนลดลง
ดังนั้นในปี 2564นี้ ที่คาดว่าการระบาดของโควิด19 จะอยู่กับโลกนี้อีก 2 ปีข้างหน้า การเดินทางต่างๆยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ความต้องการอาหารยังมีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของทียูที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 % ต่อปี รวมทั้งทียูจะปรับวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6.5 พันล้านบาท จากเดิมตามแผน 5 ปี กำหนดวงเงินงทุนไว้ที่ 4.5-4.9 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปลา โรงงานอาหารสำเร็จรูป ในไทย และ ห้องเย็นเก็บวัตถุดิบที่ประเทศกานา
“ทียูจะเน้นการลงทุนในส่วนที่ productivity และธุรกิจใหม่จากส่วนนวัตกรรม ที่สร้างอัตราการทำกำไรที่ดี โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารเฉพาะกลุ่มหรือฟังก์ชั่นแนล รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งโควิดที่ยังยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัวไปอีก 2 ปี กว่าฟื้นตัว ซึ่งในครึ่งปีหลังนี้จะเห็นชัดว่ามีบริษัทที่อ่อนแอในตลาด และจะเห็นมากขึ้นในปี 65 ในขณะที่สถานะการเงินของทียูดีมาก หนี้สินต่อทุนก็ต่ำมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสการลงทุนของทียู”
นอกจากนี้ ทียูยังมีแผนนำนำกัญชง กัญชา มาเป็นส่วนประกอบในสินค้าของทียู ซึ่งได้สั่งให้ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน(GIC ) ศึกษาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เช่นจะใช้อย่างไร ต้องลงทุนอะไรบ้าง ที่สำคัญต้องถูกต้องตามซึ่งสินค้าจากศูนย์นวัตกรรมนี้ มีตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำรายได้สูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ คาดว่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้อัตราการเติบโตจะเฉลี่ยที่ 10 % ขึ้นไป ภาพรวม อาจจะถึง 500 ล้านดอลลาร์ และส่งผลให้สัดรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยสัดส่วนรายได้ของอาหารกระป๋องจะลดลง สินค้านวัตกรรม อาหารสัตว์เลี้ยง จะเพิ่มขึ้น
สำหรับโรงงานที่สมุทรสาคร ขณะนี้ได้เปิดดำเนินการเต็ม100%แล้ว หลังจากต้องลดกำลังผลิตลงเนื่องจากพบคนงานติดเชื้อโควิด ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการแยกคนป่วยไปรักษาและตรวจพนักงานทุกคนจนครบแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโควิดแล้วก็จะคงมาตรการเข้มงวดการตรวจคัดกรองโควิดต่อไป
ส่วนภาพรวมธุรกิจ ยืนยันว่ากลุ่มอาหารยังพอไปได้ แม้แนวโน้มค่าเงินบาทจะทรงตัวแข็งค่าเฉลี่ยที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่คาดว่าจะไม่แข็งค่าไปจนถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์แน่นอน