ต้อง ‘อินเตอร์’ จึงสำเร็จยั่งยืน
หนึ่งในทางรอดของธุรกิจยุคที่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็ว คือ จะต้องมีการปรับตัวให้ "อินเตอร์" หรือมีความเป็นสากล มองไปทั่วโลกมากขึ้น
ความสำเร็จในธุรกิจยุคนวัตกรรมนี้อยู่ที่ความเป็นสากล หรือ International เราต้องมองและไปให้ไกลทั่วโลก แม้ฐานที่มั่นเราจะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม เข้าทำนอง “ตาดูดาว เท้าติดดิน”
โชคดีที่ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาในโครงการต่างๆ ของธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย องค์การสหประชาชาติและอีกหลายแห่ง ทำให้เห็นว่าการทำธุรกิจนั้นต้องยึดโยงกับต่างประเทศและมีความเป็นสากล จึงจะได้รับการยอมรับ มีช่องทางลูกค้าจากต่างประเทศ และได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ เป็นการกรุยทางสู่ความสำเร็จในอนาคต เรียกได้ว่ามีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจมากขึ้น
ผมจำได้ว่าตอนผมเปิดศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน ผมก็พยายามไปร่วมกิจกรรมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาค เช่น ASEAN Association for Planning and Housing หรือ Pacific Rim Real Estate Society และสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน (ASEAN Valuers Association) ไม่เพียงไปร่วมสัมมนา แต่ไปนำเสนอบทความทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รู้จักเครือข่ายนักวิชาการ นักพัฒนาที่ดิน และที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในหลายต่อหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีการไปเชื่อมต่อต่างประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการเป็นสาขาของบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร หรือ Total Package โดยที่ผ่านมามีบริษัทที่ปรึกษาใหญ่ๆ มาขอให้บริษัทของผมเป็นเครือข่ายของเขาในไทย แต่ผมก็ปฏิเสธ เพราะบริษัทเหล่านี้เน้นการเป็นนายหน้า ในขณะที่ผมเน้นการประเมินค่าทรัพย์สินและเป็นที่ปรึกษาโดยไม่พัฒนาที่ดินเอง เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพโดยเคร่งครัด ถ้าผมไปร่วมกับบริษัทเหล่านี้ ผมก็จะมีเครือข่ายนายหน้าในแทบทุกประเทศแต่เฉพาะในบริษัทดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้เปิดกว้างออกไป
การอยู่ในเครือข่ายของบริษัทนายหน้าระดับโลกแห่งใดแห่งหนึ่งก็เป็นลู่ทางการแสวงหาลูกค้าจากต่างประเทศทางหนึ่ง แต่สำหรับผมเลือกคบกับพันธมิตรทางธุรกิจแบบ Strategic Partners จึงได้บริษัทประเมินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเป็นพันธมิตร เวลาญี่ปุ่นมีงานประเมินในไทย หรือในอาเซียน ผมก็ได้งานมาทำ เวลานักธุรกิจไทยสนใจไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น ผมก็ไปช่วยศึกษาหรือประเมินค่า เช่น ประเมินรีสอร์ตประเภทสกีในฮอกไกโด เราก็สามารถทำได้ง่าย ผมมีพันธมิตรทางธุรกิจแบบนี้อยู่หลายแห่ง เช่นที่มัลดีฟส์ ก็จะมีให้เสนอราคาเพื่อประเมินรีสอร์ต ตามเกาะน้อยใหญ่อยู่เนืองๆ รวมทั้งในสหรัฐ ออสเตรเลีย บราซิล ยุโรป เป็นต้น
จากการเปิดกว้างสู่สากล ทำให้ผมได้มีโอกาสรับจ้างเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังเวียดนามด้านการวางโรดแมพการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน ต้องไปกินนอนอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งเลยทีเดียว กลับบ้านได้เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เพราะเขาเห็นแววความเป็นสากลจากการไปร่วมประชุมสัมมนาต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาที่กระทรวงการคลังอินโดนีเซีย โดยไปสอนเรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินในหลายต่อหลายเมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3.5 เท่า รวมทั้งโครงการของกระทรวงการคลังกัมพูชา กระทรวงการพัฒนาประเทศของบรูไน และไปช่วยให้คำแนะนำการตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่เมียนมา
การเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ยังทำให้ได้รู้จัก “หุ้นส่วน” มากหลาย ซึ่งแม้ไม่ใช่หุ้นส่วนกันจริงๆ แต่ก็เป็นเสมือนผู้ร่วมลงทุน เช่น ผมได้รู้จักกับนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเนปาล คล้ายๆ กับ “พฤกษา” หรือ “แลนด์แอนด์เฮาส์” ในประเทศไทย จึงได้ไปเป็นที่ปรึกษา บรรยาย และสำรวจวิจัยในเนปาลมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปีแล้ว นับได้ว่าเป็นประเทศที่ผมไปบ่อยกว่าประเทศอื่น
พอคนรู้จักมากขึ้นก็จะมีคนมาจ้างงานมากขึ้น เช่น บริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนในเวียดนามจ้างไปเป็นที่ปรึกษาพัฒนาเมืองใหม่ หรือมีบริษัทในอินโดนีเซียจ้างไปประเมินค่าเขื่อนขนาดใหญ่ สร้างที่ก่อสร้างรีสอร์ตโดยนักลงทุนจากตะวันออกกลางในเกาะลอมบอก ซึ่งเป็นเกาะพี่เกาะน้องกับเกาะบาหลี นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ปรึกษาแบบออนไลน์จากสิงคโปร์ว่าจ้างให้คุยกับลูกค้าจากหลายประเทศเป็นกรณีๆ ไปในฐานะ Property Expert เป็นต้น
ผมเองก็ต้องพยายามแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ในระดับสากล เช่น เคยเป็นกรรมการของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน จึงมีเครือข่ายผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน พอจะไปประเมินที่ประเทศใด ก็จะสามารถสอบถามหาข้อมูลได้ง่ายและแม่นยำเชื่อถือได้ พอถึงอีกจุดหนึ่ง ก็เปลี่ยนมาร่วมก่อตั้ง ASEAN Real Estate Network Alliance (ARENA) และเป็นเจ้าภาพจัดงาน ARENA ในปี 2559 ในประเทศไทย รวมทั้งไปเป็นผู้แทนในประเทศไทยของสมาคมผู้ประเมินค่าสากล (International Association of Assessing Officers) ในประเทศไทย
ที่สำคัญที่สุดก็คือผมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง FIABCI-Thai โดยรับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ FIABCI เป็นสหพันธ์อสังหาริมทรัพย์สากล มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก 70 ประเทศ ไปทั่วโลกเขาก็รู้จัก FIABCI เพราะเป็นสหพันธ์อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีทั้งผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และที่สำคัญคือมีนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ของทั่วโลกเป็นสมาชิก และยังมีนักวิชาชีพอื่น เช่น นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สินและอื่นๆ ร่วมด้วย การเป็นสมาชิก FIABCI จึงมีความสำคัญมากในการสร้างเครือข่าย ขณะนี้ผมยังได้รับเลือกใน FIABCI ให้เป็นประธานสาขาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในปี 2564 นี้ด้วย
จากการมีเครือข่ายทั่วโลก ทำให้ผมสามารถจัดทัวร์อสังหาริมทรัพย์ให้คณะข้าราชการไทย คณะนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปดูงานต่างประเทศแทบทั่วโลกอยู่เนืองๆ นับเป็นกิจกรรมทัวร์อสังหาริมทรัพย์ที่จัดได้บ่อยที่สุดก็ว่าได้ ผมไปมาแล้วกว่า 200 เมืองทั่วโลก ยิ่งกว่านั้นกระทรวงด้านที่อยู่อาศัยในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รวมทั้งสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากหลายประเทศ ก็มอบหมายให้ผมจัดทัวร์อสังหาริมทรัพย์ให้ชาวต่างประเทศมาดูงานในประเทศไทย มาพบปะกับข้าราชการและนักพัฒนาที่ดินไทย
ที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของการมีเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ที่กว้างขวาง สามารถทำให้เราส่งออกความรู้ไปสู่สากล เช่น สามารถสำรวจข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในกาฐมาณฑุ จาการ์ตา พนมเปญ มะนิลา ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ เป็นต้น โดยศูนย์ข้อมูลของเราสำรวจข้อมูลได้มากกว่าศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเสียอีก นอกจากนี้ยังส่งออกความรู้โดยไปจัดหลักสูตรอบรมให้กับเทศบาลนครคัมพาลา ยูกันดา และอื่นๆ หรือเมื่อจัดหลักสูตรระหว่างประเทศด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือหลักสูตรประเมินค่าทรัพย์สินในไทย ก็จะมีผู้เข้าอบรมจากต่างประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐ เอเชีย แอฟริกา มาร่วมเป็นระยะๆ
ถ้าเราสร้างเครือข่ายต่างประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง นักลงทุนหรือส่วนราชการในต่างประเทศก็จะนึกถึงเราก่อนเป็นอันดับแรก เราก็จะได้งานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน