BTS ยื่นนายกฯระงับประมูล รอศาลพิพากษาคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม

BTS ยื่นนายกฯระงับประมูล  รอศาลพิพากษาคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม

BTS ยื่นนายกฯ ขอให้ระงับประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ต้องรอศาลพิพากษา 2 คดี ทั้งศาลปกครองกลาง และศาลอาญาคดีทุจริต

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS  ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 มี.ค.2564 ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

หนังสือดังกล่าวขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหากปรากฎผลทางการพิจรณาคดีว่าการกระทำที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้อง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีโปรดสั่งการยัง รฟม.ให้หยุดการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นเป็นกรณีพิพาทนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ทำให้บริษัทฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 เป็นคดีปกครอง คกีหมายเลขดำที่ 2280/2563 เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำทางปกครอง ซึ่งศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ที่แก้ไขไว้เป็นการชั่วคราว

ต่อมา รฟม.ยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มในวันที่ 9 พ.ย.2563 และกำหนดเปิดซองที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย.2563 ทำให้บริษัทฯ และชิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในนามกิจการร่วมค้า BSR

ทั้งนี้ มีการประกาศในเว็บไซต์ของ รฟม.ในวันที่ 3 ก.พ.2564 เพื่อยกเลิกการประมูลดังกล่าว รวมทั้ง รฟม.ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม.ไม่ขอโต้แย้ง โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่าการกระทำของ รฟม.ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวปฏิบัติ

ดังนั้นวันที่ 22 ก.พ.2564 บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัิต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564

ข้อเท็จจริงปรากฎว่าวันที่ 1 มี.ค.2564 ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่มีการเริ่มกระบวนการคดัเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความเห็นของภาคเอกชนใหม่ โดยให้กรอกความเห็นในเอกสาร ซึ่งเอกสารมีสาระสำคัญ คือ

“การพิจารณาซองที่ 2 และซองที่ 3 โดยมีคะแนนเต็ม 100 คำแนน แบ่งเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2-3 มารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด”

สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน