กรมศุลเปิดช่องร้องเรียนตรงอธิบดีประเมินภาษีไม่เป็นธรรม

กรมศุลเปิดช่องร้องเรียนตรงอธิบดีประเมินภาษีไม่เป็นธรรม

กรมศุลฯเปิดช่องทางด่วน! ส่งเรื่องร้องเรียนตรงอธิบดีหวังสยบกระแสดราม่าออนไลน์​ ยันใช้หลักประเมินภาษีโปร่งใส​ โดยใช้หลักเปรียบเทียบราคาจริง

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์ที่ไม่โปร่งใสว่า ในปีงบประมาณ 2563 สถิติขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ผ่านบริษัทเอกชนต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 38 ล้านชิ้น และขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์จำนวน 5 ล้านชิ้น ซึ่งกว่า 99% ที่เกิดปัญหาดราม่ามีผู้ร้องเรียนว่าสินค้าหายหรือถูกประเมินภาษีเกินราคานั้นคือ การขนส่งทางไปรษณีย์เป็นหลัก

ทั้งนี้กรมศุลขอเรียนว่า การคัดแยกสิ่งที่ของที่นำเข้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีราคามากกว่า 40,000 บาท กลุ่มที่ 2 ราคา 1,500-40,000 บาท และกลุ่มที่ 3 ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทซึ่งไม่เสียภาษี โดยกลุ่มที่มีปัญหา คือ กลุ่มที่ 2 ที่ส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ จำนวน 300,000 ชิ้น อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ กรมศุลฯ แกะสินค้าเพื่อประเมินภาษีแค่ 3-5% จากสินค้าเท่านั้น โดยส่วนมากสินค้าที่มีปัญหา เนื่องจากบางรายแจ้งราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง น้ำหนักสินค้าไม่ตรงกับที่แจ้ง ซึ่งส่วนมากเป็นของสะสมของแฟนคลับศิลปินเกาหลี อาทิ อัลบั้ม โฟโต้บุ๊ค เป็นต้น

ดังนั้นกรมศุลจึงมีการแกะกล่องร่วมกับไปรษณีย์ไทยเพื่อประเมินภาษีใหม่ ซึ่งหลักการประเมินจะใช้หลักการของเหมือนกันคิดราคาใกล้เคียงกัน โดยราคาที่นำมาคิดภาษีจะดูจากสินค้าประเภทเดียวกันที่เคยส่งมาหรือดูหน้าเว็บไซต์ในกรณีที่สินค้าไม่มีป้ายติดราคามา

“เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ผมจะเปิดช่องทางร้องเรียนพิเศษ หรือ Hot Line ขึ้นบนเว็บไซต์ของกรมศุลกากร โดยให้ผู้ที่มีปัญหา สามารถส่งอีเมลล์แจ้งปัญหามาที่ผมได้โดยตรง โดยคนที่แจ้งข้อร้องเรียนมาจะต้องระบุชื่อข้อร้องเรียนให้ชัดเจน หรือมีตัวตนจริงๆ หลังจากนั้นจะรับเรื่องเพื่อไปดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมทั้งสั่งให้จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังเฉพาะกิจ เพิ่มจำนวนกล้องวงจรปิดบริเวณคัดแยก ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มงวด”

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา มีประชาชนยื่นอุทธรณ์การคิดภาษีสินค้าต่อกรมศุลทั้งสิ้น 3,000 ชิ้น หรือคิดเป็น 1% ของสินค้าประเภทสองจำนวน 300,000 ชิ้นเท่านั้น โดยในจำนวนนี้กว่า 70% กรมศุลยอมรับการอุทธรณ์และปรับลดราคาประเมินลงมา เนื่องจากเจ้าของสินค้ามีหลักฐานการชำระเงินที่ชัดเจน

ส่วนกรณีดราม่าในทวิตเตอร์ที่ระบุว่าสั่งสินค้าเข้ามาจากเป็นเสื้อ 4 ตัวแต่ได้เสื้อแค่ 2 ตัวนั้น พบว่า สินค้าถูกส่งมาจากอเมริกามีการแวะพักประเทศทางอเมริกาใต้ ก่อนจะส่งมายังไทย โดยในเอกสารรายละเอียดแจ้งสินค้า 4 รายการ แต่เมื่อผู้รับเปิดกล่องพบสินค้ามี 4 รายการจริง แต่สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งนั้นกรมศุลถือว่าเจ้าของได้รับสินค้าครบถ้วน ส่วนกรณีได้ของไม่ตรงกับที่สั่งเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อต้องติดต่อกับผู้ขายเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินสินค้าแล้วจะมีใบแจ้งราคาส่งไปยังเจ้าของ ซึ่งถ้าหากเจ้าของสินค้าไม่มาชำระภาษีเพื่อรับสินค้าภายใน 30 วัน สินค้าเหล่านี้จะนำไปถูกเก็บรวบรวมไว้เพื่อนำประมูลเป็นการทั่วไป และบางส่วนจะถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ส่วนสินค้าผิดกฎหมายจะถูกนำไปทำลายในภายหลัง

“ส่วนเรื่องที่จัดเก็บภาษีสินค้าที่น้อยกว่า 1,500 บาทนั้นขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาเนื่องจากเอสเอ็มอีในประเทศเสียเปรียบเพราะต้องเสียภาษี แต่ผู้ผลิตต่างประเทศไม่เสียภาษีสักบาท ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงให้กรมศุลไปคิดว่าจะสามารถทำได้หรือไม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ โดยขอยืนยันว่าการเก็บภาษีสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น ไม่มีได้มีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมเพราะมูลค่าในส่วนนี้น้อยมาก”

สำหรับ สถิติการนำเข้าสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 มีทั้งหมด 4,817,355 หีบห่อ ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีทั้งหมด 5,989,619 หีบห่อ ด้านสถิติการจับกุมตรวจยึดสิ่งของผิดกฎหมาย ของส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ในปีงบประมาณ 2563 มีดังนี้ ยาเสพติด จำนวน 214 ราย น้ำหนัก 978.92 กิโลกรัม มูลค่า 404,770,100 บาท วัตถุลามก จำนวน 356 ราย น้ำหนัก 1,077.87 กิโลกรัม มูลค่า 1,796,000 บาท บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 391 ราย น้ำหนัก 451.15 กิโลกรัม มูลค่า 257,300 บาท