เดอะมอลล์ลุย‘เอ็มออนไลน์’ พลิกโฉม 'กูร์เมต์'สู่เวิลด์คลาส รอรับทัวริสต์ฟื้น!
วิกฤติโควิด-19 มาพร้อมโอกาส! สำหรับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ที่ใช้ห้วงเวลาตั้งแต่ล็อกดาวน์ธุรกิจเมื่อ 22 มี.ค.ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด ทำการรื้อพื้นที่ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” หนึ่งในเรือธงรองรับลูกค้าต่างชาติ
โดยเฉพาะสาขาใจกลางเมือง “พารากอน” ที่นักท่องเที่ยวหายวูบไปนั้น “ยกเครื่องใหญ่” ในทันที
อัจฉรา อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส และ พลอยชมพู อัมพุช ผู้จัดการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา การที่ธุรกิจจะดึงดูดให้ลูกค้าออกมาชอปปิง หรือใช้เวลาในร้านจะต้องมีอะไรที่กระชากใจแบบไม่ธรรมดา นับเป็นโจทย์ตั้งของการมองหาคอนเซปต์และแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“กูร์เมต์ มาร์เก็ต เปิดมา 17 ปี จะต่อยอดจุดแข็งความหลากหลาย และคุณภาพ ได้อย่างไร เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งลูกค้าชาวไทยที่เชื่อว่ากำลังซื้อและเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเข้ามากระทบ”
กูร์เมต์ มาร์เก็ต หนึ่งในผู้นำซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ไทยระดับพรีเมียม ประเดิมพลิกโฉมสาขาพารากอนเป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ เวิลด์คลาส กูร์เมต์ เดสทิเนชั่น ในคอนเซปต์ กูร์เมต์ มาร์เก็ต สไตล์ ที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้แกนหลัก คำว่า มาร์เก็ต (Market) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตลาดหลากหลายแห่ง ทั้งเมืองเก่าในฝั่งยุโรปที่มีความคลาสสิก หรือ เมืองใหม่ๆ ที่มีความโมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ เรียกว่าผสานความเป็น “New Town” และ “Old Town” โดยใช้คำว่า “มาร์เก็ต” เป็นตัวเชื่อมโยง สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าในบรรยากาศ "Farm Market" ซึ่งดีไซน์ให้มีลักษณะคล้ายอาคาร (Barn House) ใส่ลูกเล่นด้วยการจำลองให้มีแสง รอดผ่านหลังคาลงมาภายใน โซนนี้จะมีผักสด ผลไม้สด เครื่องปรุงต่างๆ สำหรับด้านหน้าโซนจะเป็นพื้นที่ “Court Yard” สำหรับจอดฟรุ๊ตทรัค และฟรุ๊ตคีออส ที่มีผลไม้ทั้งนำเข้าและท้องถิ่นไทย ให้บรรยากาศ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต!
นอกจากนี้ มีโซน “Town Hall” ได้แรงบันดาลใจจากรูปแบบของตลาดกลางในยุโรป ที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กและกระเบื้องดินเผาสีส้ม เป็นวัสดุมุงหลังคา และมีช่องแสงด้านบนอาคาร มีแสงส่องผ่านลงมา ด้านล่างจะเป็นพื้นที่ของสเปเชียลตี้ช็อปและส่วนไดอินที่จะมีทั้งบุชเชอร์ ช็อป ซีฟู้ด ชีส ขาดไม่ได้คืองาน "Visual Merchandising" ที่ช่วยส่งเสริมกลิ่นอายของแต่ละโซนให้โดดเด่นที่ใส่ความครีเอทิวิตี้ลงไปสร้างความแตกต่างไม่เหมือนใคร
พารากอน โฉมใหม่พื้นที่กว่า 6,000 ตร.ม. รวมสินค้ากว่า 50,000 รายการ ใช้งบปรับปรุงไปกว่า 100 ล้านบาท จะเป็น “ต้นแบบ” สำหรับการยกเครื่องกูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่มีอยู่ 17 สาขา ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ “แฟลกชิพสโตร์” ที่อยู่ในเมือง เช่น พารากอน เอ็มโพเรี่ยม “รอบนอก” เช่น ท่าพระ บางแค และ “สแตนอะโลน”หรือภายนอกศูนย์การค้าเดอะมอลล์
โดยเตรียมงบมากกว่า 2,000 ล้านบาทที่จะใช้ช่วง 3 ปีจากนี้ (2564-2566) ในการทยอยพลิกโฉมสาขาเก่าสู่เวิลด์คลาสกูร์เมต์ เดสทิเนชั่น โดยเฉพาะสาขาหลักขนาดใหญ่ เช่น ท่าพระ บางแค ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 200-300 ล้านบาทต่อแห่ง ขณะที่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต สแตนอะโลน จะถูกพัฒนาในคอนเซปต์ใหม่ เป็นลักษณะคอมแพ็ค ซูเปอร์มาร์เก็ต เน้นความสะดวกตอบโจทย์ชุมชน พร้อมทั้งจะขยายตลาดในวงกว้างมากขึ้น ลงทุนราว 50-80 ล้านบาทต่อสาขา
อัจฉรา กล่าวย้ำว่า กลุ่มเดอะมอลล์มุ่งเดินหน้าธุรกิจเชิงรุกโดยเฉพาะโลกออนไลน์ผ่าน “เอ็ม ออนไลน์” ซึ่งเตรียมเปิดตัวในเร็วๆ นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเชื่อมค้าปลีกออฟไลน์สู่ออนไลน์/ออนไลน์สู่ออฟไลน์ หรือ “O2O” รองรับการเติบโตในอนาคตที่จะต้องทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการที่ไหน เวลาไหนก็ได้ พร้อมมุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มสินค้าเพาเวอร์มอลล์ บิวตี้ บีเทรนด์ เดอะลิฟวิ่ง รวมทั้งกูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่จะเป็นหัวหอกสร้างการเติบโตของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ท่ามกลางภาวะตลาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และรอจังหวะในการ “เปิดประเทศ” ต้อนรับนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นธุรกิจ เศรษฐกิจ และเดินหน้าประเทศไทยกลับสู่ขาขึ้นอีกครั้ง