เลิกอั้นใช้จ่าย! สงกรานต์นี้ คนไทยพร้อมเปย์ ส่องไอเทมต้องมี เสื้อผ้า กินข้าวนอกบ้าน รองเท้า กระเป๋า มือถือฯ
'ฮาคูโฮโด' ชี้สงกรานต์ 64 คนไทยพร้อมเปย์ เสื้อผ้า กินข้าวนอกบ้าน รองเท้า กระเป๋า มือถือฯ หนุนดัชนีความสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้มีโควิดระบาด เผยความสนใจข่าวโควิดลดฮวบ จดจ่อมาตรการรัฐแทน ทั้งโครงการเราชนะ เรารักกัน ฯ เพราะเกี่ยวข้องเงินในกระเป๋าโดยตรง
การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็มีฤดูกาลหรือซีซันนอล เพราะในแต่ละช่วงเวลามี “เงิน” เข้า-ออกกระเป๋าแตกต่างกันไป เช่น สิ้นเดือน ปีใหม่ สงกรานต์ ไตรมาส 4 เป็นต้น ทว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดมาราธอนข้ามปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นระลอกๆ ย่อมทำให้ประชาชนผวา ความเชื่อมั่นลดลง ยิ่งถ้าได้รับผลกระทบ “ตกงาน” ว่างงาน ทำให้ขาดรายรับประจำ กระเทือนการใช้จ่าย จนการค้าขายซบเซา
แต่ “สงกรานต์” ปี 2564 ผู้ประกอบการเตรียมเฮ! เพราะผู้บริโภคพร้อมใจเปย์ ซื้อสินค้าและบริการ หลังอัดอั้นมานาน
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัทในเครือ ฮาคูโฮโด ได้ศึกษาแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-26 กุมภาพันธ์ 2564 จากกลุ่มตัวอย่าางทั้งชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่สำคัญ โดยเฉพาะการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน 2564 ผลออกมาคือ “คนไทยกล้าใช้จ่ายมากขึ้น” แม้โรคโควิด-19 จะยังคงอยู่
นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังอยู่ในชีวิตคนไทยต่อไป แต่พลังของเทศกาลสงกราานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาวหน้าร้อนทำให้คนไทยเริ่มปลดล็อคการใช้จ่ายในหลายด้านมากขึ้น ทั้งการเตรียมตัวออกไปท่องเที่ยว การสังสรรค์นอกบ้าน และการกลับมาพบกันของครอบครัวและคนใกล้ชิด ทำให้ระดับความสุขของผู้บริโภคไทยกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
การใช้จ่ายของคนไทยเริ่มฟื้นตัวรับสงกรานต์-หยุดยาว
ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่ผ่อนคลาย กล้าใช้จ่ายมากขึ้นแม้โควิดจะยังอยู่ เห็นได้ชัดจากความต้องการใช้จ่ายไปกับการทานอาหารนอกบ้าน การซื้อเสื้อผ้าใหม่ ควบคู่กับการอยู่บ้านมากขึ้นยังทำให้เกิดวิถีใหม่หรือ New Normal ด้วยการ “สร้างสุขได้เองที่บ้าน” นอกจากนี้ ยังมีความต้องการซื้อสินค้าเครื่องใช้เพื่อความสะดวกสบายในบ้านมากขึ้น
ทว่า เมื่อพร้อมเปย์เงินซื้อความสุขหมวดหนึ่ง ของอีกหมวดก็ตต้องลดลงบ้าง โดยผลการสำรวจพบว่าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันเริ่มน้อยลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน แต่ยังติดอันดับต้นๆ โดยเจาะลึกสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุดในเดือนเมษายน 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ภายในบ้าน และเสื้อผ้า โดยมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพราะช่วงโควิดนักเดินทางจำนวนมาก “อั้น” การเที่ยวนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวคืออานิสงส์สำคัญที่ปลุกการจับจ่ายใช้สอย ห้วงเวลาแห่งความสุขดังกล่าว กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวสำหรับการพักผ่อน การรวมญาติ
ส่วนฟากของแบรนด์สินค้าและบริการ ผู้ประกอบการเองก็ต้องระดมจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายรับนาทีทองการใช้จ่าย จึงมีปล่อยมหกรรมลดราคาต่างๆ มาจูงใจกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 56 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 54 คะแนน เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และความต้องการใช้จ่ายยังคงเป็นซื้อเสื้อผ้า ทานอาหารนอกบ้าน เครื่องใช้ภายในบ้าน รองเท้า-กระเป๋า โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ของมันต้องช้อป-ใช้จ่ายเมษายนนี้ กินข้าวนอกบ้าน กระเป๋า มือถือ ท่องเที่ยว
เมื่อจำแนกตามภาคแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ขณะที่จังหวัดชลบุรีและระยองมีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนสินค้ายังเป็นกลุ่มอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเสื้อผ้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการซื้อทดแทนของที่หมดไปในช่วงล็อคดาวน์ และยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือทำมาหากินรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึงอีกครั้งด้วย
ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ กลับมีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลง หากพิจารณาจากสถานการณ์พื้นที่เหล่านี้ เพราะภาคใต้พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว และมีผลกระทบจากโควิด ส่วนภาคอิสานผ่านพ้นฤดูกาลเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว
สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นสัญญาณความสุขส่งผลต่อระดับความคาดหวังถึงความสุขในอนาคตที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยระดับความสุขในปัจจุบันอยู่ที่ 65 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100
"การคาดการณ์ระดับความสุขใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคคาดว่าจะมีความสุข 51% เท่ากับปัจจุบัน แต่เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับการสำรวจครั้งก่อน"
ชุติมา วิริยะมหากุล
อีกพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ คือการเกาะติดข่าวสาร แม้โควิดจะเป็นประเด็นฮอตที่คนพูดถึงกันมากสุด แต่ความสนใจลดฮวบเหลือ 24% จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 81% โดยผู้บริโภคเบนความสนใจไปให้น้ำหนักกับ มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ เรารักกัน รวมถึงอัพเดทเรื่อง วัคซีนโควิด
นอกจากนี้ ยังต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องความเป็นธรรมในสังคมและความโปร่งใสของภาครัฐ จากการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ม็อบเมียนมาร์ ลุงพลกับคดีน้องชมพู่ หรือข่าวเมียหลวงบุกงานแต่ง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอยากเห็นความถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อน้องใหม่อย่างแอปพลิเคชัน Clubhouse กลายเป็นสื่อยอดนิยมในช่วงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรีและตรงไปตรงมา ยังไม่หมด เพราะผู้บริโภคยังสนใจข่าวเกี่ยวกับการหาช่องทางสร้างรายได้จากการลงทุน เช่น บิตคอยน์ หุ้นโออาร์ และทองคำด้วย