แก้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ ต้องจัดการให้สมดุล
ขณะนี้โควิด-19 กลับระบาดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะคลัสเตอร์สถานบันเทิง แต่ยังคงไม่มีการสั่งการให้ล็อกดาวน์ คำสั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ รวมถึงยกระดับการจัดโซนพื้นที่ โดยนายกฯย้ำว่ารัฐบาลกำลังหาแนวทางแก้ปัญหาให้เกิดสมดุลระหว่างเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ
สถานการณ์โรคโควิดรายวันเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.64) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 334 ราย แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการ 174 ราย พบใน กทม. 83 รายยังไม่รวมกรณีของศิลปิน แสตมป์ อภิวัชร์ และบุคลากรโรงพยาบาลราชวิถี เชียงใหม่ 2 ราย ลำปาง 1 ราย ปทุมธานี 3 ราย สมุทรสาคร 12 ราย สุพรรณบุรี 8 ราย นครปฐม 1 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 6 ราย ขอนแก่น 2 ราย อุดรธานี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย สงขลา 1 ราย นราธิวาส 1 ราย
ประเด็นจังหวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงใน กทม. คือ สมุทรปราการ 15 ราย ชลบุรี 6 ราย สระแก้ว 20 รายซึ่งพบการระบาดในสถานบันเทิงในจังหวัดด้วย อยุธยา 1 ราย นนทบุรี 8 รายส่วนการคัดกรองเชิงรุก 153 ราย พบใน กทม. 133 ราย สมุทรปราการ 15 ราย ชลบุรี 5 ราย ศบค.ระบุแนวโน้มของการติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและบริการ เริ่มสูงขึ้นเท่ากับในช่วงแรกของการระบาดที่ตลาดบางแค ซึ่งสถานการณ์น่าเป็นห่วง โดยสัปดาห์นี้ 4 วัน ตั้งแต่ 4-6 เม.ย.ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พบใน 27 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพียง 14 จังหวัด
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวขณะไปเปิดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา ช่วง อ.ปากช่อง-อ.สีคิ้ว กล่าวถึงกรณีที่คณะแพทย์แสดงความเป็นห่วงช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากไม่มีการควบคุมที่ดีพออาจจะมีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น นายกรัฐมนตรีบอกว่า หากตนจะสั่งการให้ล็อกดาวน์ เป็นเรื่องง่าย แต่ว่าวันนี้รัฐบาลกำลังหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกิดความสมดุลระหว่างเรื่องสุขภาพกับเรื่องเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลจะพยายามให้เศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 4% คำตอบดังกล่าวเป็นที่มาของการไม่มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ อาจรวมถึงการล้มเลิกแผนของ ศบค.ชุดเล็กในการอนุมัติการยกระดับการจัดโซนพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะ 5 จังหวัดสำคัญเป็นพื้นที่สีแดง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยการปรับปรุงมาตรการได้ให้อำนาจ สธ.กับมหาดไทยดำเนินการตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่จังหวัด
ความเคลื่อนไหวของ ศบค.ชุดเล็กครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละแห่ง กำหนดมาตรการเพิ่มเติมจากที่ ศบค.ชุดใหญ่วางไว้ หากจะอ่านสัญญาณจากผู้นำล่าสุดจากท่าทีที่โควิดกำลังระบาดหนัก แต่ไม่มีมาตรการยาขม น่าจะมีการประเมินอย่างดีจากทีมที่ปรึกษา เราเชื่อว่าได้มีการดีเบตระหว่างทีมแพทย์กับที่ปรึกษาเศรษฐกิจมาแล้ว การที่รัฐบาลเลือกแนวทางปล่อยวางแม้จะเป็นกังวล แล้วให้อำนาจท้องถิ่นดำเนินการ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข อีกส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างจำกัด และหากเงินอัดฉีดที่ออกไปต้องสูญเปล่า งบประมาณก้อนสุดท้ายจะสุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่ ทำให้อนาคตเศรษฐกิจไทย กลับมายาก