เปิดชุด มาตรการ 'โควิด-19' ทั้ง เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รอบใหม่ 

เปิดชุด มาตรการ 'โควิด-19' ทั้ง เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รอบใหม่ 

การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงใจกลาง กทม.มีการแพร่กระจายไปหลายจังหวัด และมีบุคคลระดับสูงหลายแวดวงไปถึงนักการเมืองและรัฐมนตรีติดโควิด-19

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการแพร่ระบาดที่ใกล้กับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีวันหยุดยาวหลายวัน และเป็นช่วงที่มีการเดินทางออกต่างจังหวัดทำให้ภาครัฐต้องปรับมาตรการการควบคุมโควิด-19  

จากที่ใช้มาตรการผ่อนคลายต้องกลับมาเข้มงวดอีกครั้งเห็นได้จากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ยกระดับมาตรการปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดเป็นระยะเวลา 14 วัน ขณะที่บางจังหวัดออกประกาศให้ผู้ที่มาจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัดต้องกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด-19

นอกจากมาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิินความสามารถทางสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐกำลังจะออกมาในช่วงต่อจากนี้ก็มีความสำคัญเช่นกันในการประคอง และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว และช่วยให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจพอที่จะได้ประโยชน์จากชุดมาตรการที่จะทยอยออกมาในช่วงเดือน พ.ค.ไปจนถึงสิ้นปลายปี 2564 นี้ 

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาในช่วงต่อจากนี้ โดยเป็นชุดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งมาตรการต่างๆจะยิ่งมีความสำคัญในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จนกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนและเศรษฐกิจโดยชุดมาตรการประกอบไปด้วย 

1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวประกอบไปด้วย

1)โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 โดยโครงการนี้ใช้วงเงินจากที่เหลือจากโครงการเดิม 5,700 ล้านบาท ขยายสิทธิ์ให้กับผู้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศอีก 2 ล้านสิทธิ์ รวมกับเดิมที่มีการอนุมัติในระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว 6 ล้านสิทธิ์

ทั้งนี้มีการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกันบางส่วนให้เหมาะสมและป้องกันการทุจริตในโครงการ เช่น การเพิ่มขั้นตอนการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันสิทธิ์ และมีการยกเลิกใช้สิทธิ์ภายในจังหวัดเดียวกับภูมิลำเนา โดยให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในจังหวัดเดียวกันได้เหมือนโครงการในระยะต่อมา

นอกจากนี้มีการปรับปรุงเงื่อนไขของการให้สิทธิ E-vouchers จากเดิมให้ 40 % ของการใช้จ่ายในวันธรรมดา 900 บาทและวันหยุด 600 บาท เป็นเหลือวันละ 600 บาทเท่ากันทั้งวันหยุดและวันธรรมดา โดยคาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในเดือน พ.ค.นี้

2)โครงการทัวร์เที่ยวไทย โครงการนี้ ครม.เห็นชอบวงเงินจากเงินกู้ฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยจะอนุมัติให้สิทธิ์กับผู้ที่ซื้อทัวร์ 3 วัน 2 คืน โดยเป็นทัวร์โปรแกรมที่ลงไว้กับเว็บไซด์ของ ททท. โดยโปรแกรมที่จะมีการอนุมัติและตรวจสอบรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนสูงสุด ไม่เกิน 40% หรือ 5,000 บาทต่อราย ราคาทัวร์สูงสุดไม่เกิน 12,500 บาทต่อโปรแกรมทัวร์ซึ่งต้องเป็นโปรแกรมทัวร์ที่เดินทางในวันธรรมดาเท่านั้น และในการชำระเงินต้องผ่านโปรแกรมแอพเป๋าตังค์ ส่วนบริษัททัวร์ก็ต้องมีการโหลดแอพถุงเงินเพื่อรับเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

161794433821

2.มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้จ่าย ประกอบไปด้วย 1)โครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเงื่อนไขโครงการจะเหมือนกับโครงการในเฟสที่ 1 และ 2 โดยเป็นการร่วมจ่ายระหว่างรัฐบาลกับผู้ที่ได้รับสิทธิ์เพื่อใช้จ่าย โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินให้วันละไม่เกิน 150 บาท ซึ่งที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่งมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.5 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิจำนวน 14,793,502 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้โครงการคนละครึ่งเฟส 3 อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

 2)โครงการส่งเสริมให้คนที่มีเงินออมเอาเงินออกมาใช้จ่าย มาตรการนี้เป็นแนวความคิดของสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ที่เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมาคนไทยในกลุ่มที่มีรายได้สูงมีเงินออมมากขึ้นจึงให้กระทรวงการคลังคิดมาตรการที่จะจูงใจให้คนกลุ่มนี้เอาเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการหารูปแบบที่เหมาะสมแต่จะไม่ใช่ลักษณะการนำไปลดหย่อนภาษีเหมือนโครงการช็อปดีมีคืนที่รัฐบาลเคยออกมาก่อนหน้านี้ 

3.มาตรการช่วยเหลือข้าราชการผู้มีรายได้น้อย โดยโครงการนี้เป็นแนวคิดที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหามาตรการในการดูแลข้าราชการที่มีรายได้น้อย ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเคยบอกว่าจะมีโครงการ “เราผูกพัน”ออกมา แต่โครงการนี้ท้ายที่สุดแล้วอาจออกมาเป็นในรูปแบบการช่วยเหลือค่าครองชีพเหมือนกับที่รัฐบาลอื่นๆเคยทำมาในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจและคงไม่ได้ใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทมาใช้ในการดำเนินการในโครการนี้ 

และ 4.มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในท้องถิ่น โดยโครงการนี้มีวงเงินอยู่ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่อนุมัติให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่างๆจัดทำโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ และโครงการลงทุนขนาดเล็กในท้องถิ่นซึ่งเงินจำนวนนี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้อีกส่วนหนึ่ง

ทั้งหมดคือชุดมาตรการที่รัฐบาลจะทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ต้องรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการบริโภค การท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้