10 อันดับ ‘การลงทุนต่างประเทศ’ ให้ ‘ผลตอบแทน’ สูงสุด
เปิด10 อันดับ “การลงทุนต่างประเทศ” ให้ “ผลตอบแทน” สูงสุดในช่วงไตรมาส 1 ปี2564 นำโดย น้ำมันที่ 19.8% รองลงมากองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก ที่ 6.3% ด้าน “กองทุน” แนะนักลงทุนสามารถลงทุนตรง-ผ่านกองทุน ตามความเสี่ยงที่รับได้ หุ้นสหรัฐ-จีน และธีมลงทุนที่ได้รับประโยชน์ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก
แม้ในหลายประเทศทั่วโลกจะมีการแพร่ระบาดโควิด-19ไปแล้วถึง3ระลอก เมื่อปี2563จนผ่านไตรมาส1ปี2564 ขณะที่ในไทยโควิด-19กำลังเผชิญการระบาดระลอก3ในเวลานี้และต้องลุ้นหลังสงกรานต์นี้ว่าจะแพร่ระบาดจะรุนแรงอีกแค่ไหน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในไทยบ้าง
ถ้าเป็นแบบนี้แล้วใครที่ลงทุนอยู่แค่ในประเทศอย่างเดียว อาจรอนานกว่าจะได้ผลตอบแทนดีๆ หากสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ การแบ่งเงินไป “ลงทุนต่างประเทศ” บ้าง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีขึ้น และกระจายความเสี่ยงไปในตัวอีกด้วย
มาถึงตรงนี้อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะว่า “ผลตอบแทน”ใน”การลงทุนต่างประเทศ” เป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้ จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดของ Bloomberg and UOB Asset Management พบว่า “การลงทุนต่างประเทศ”ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับแรก ณ ไตรมาส 1 ปี2564 ดังนี้
1.น้ำมัน(WTI) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 19.8% จากปี2563 ลดลงถึง -23%
2.กองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 6.3% จากปี2563 ลดลงถึง-14.3%
3.เงินดอลลาร์(U.S. Dollar) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 4.3% จากปี2563 ลดลงถึง -0.1%
4.หุ้นทั่วโลก(MSCI All World) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 4.1% จากปี2563 สูงถึง 13.4%
5.หุ้นประเทศเกิดใหม่ ไม่รวมจีน(MSCI EM ex.China) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 3.4% จากปี2563 สูงถึง9.6%
6.หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่รวมสหรัฐ (MSCI DM ex.US) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 3.3% จากปี2563 สูงถึง 5%
7. หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ (NASDAQ) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 2.7% จากปี2563 สูงถึง 36.2%
8. หุ้นจีน(CSI 300) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ -4.6% จากปี2563 สูงถึง 24.1 %
9. บอนด์ประเทศเกิดใหม่(EM USD Bond) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ -3.5% จากปี2563 สูงถึง 6.3%
10. พันธบัตรทั่วโลก(Global Agg. Bonds) ผลตอบแทนไตรมาส 1 ปี2564 ที่ -3.5% จากปี2563 สูงถึง 8.8%
ทั้งนี้ การลงทุนต่างประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี2564 สะท้อนแนวโน้มการลงทุนที่ได้ประโยชน์จากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดทำการ ส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุน ประเภท น้ำมัน กองทุนอสังหาฯ และดอลลาร์ปรับตัวขึ้นนำสินทรัพย์ลงทุนประเภทอื่น
ขณะที่การลงทุนสินทรัพย์สายเติบโตสูง อย่างเทคโนโลยีและจีน ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งพร้อมกับสินทรัพย์พลอดภัยที่ได้รับประโยชน์จากอัดฉีดนโยบายการเงินเมื่อปี2563 ถูกเทขายทำกำไรตามภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงเมื่อช่วงไตรมาส1 ปี2564ที่ผ่านมานี้
ทางด้านผลตอบแทนการลงทุนหุ้นไทย (SET index) ไตรมาส 1 ปี2564 ที่ 9.1% จากปี2563 ลดลงถึง -8.6% ถือว่าในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ ผลตอบแทนปรับตัวขึ้นแรงเมื่อเทียบกับการลงทุนต่างประเทศ เป็นรองแค่น้ำมันเท่านั้น
สำหรับแนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศที่เติบโตโดดเด่น 3 อันดับแรกยังน่าลงทุนต่อหรือไม่นั้น
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ”น้ำมัน”ฟื้นตัวด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นเหมือนปกติ แต่แนวโน้มอนาคตยังไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกกดดันด้วยการระบาดรอบใหม่ทั่วโลก ขณะที่ระดับราคาปัจจุบันของน้ำมันดิบก็ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า จึงไม่ได้ถูกเหมือนช่วงก่อนหน้านี้แล้ว
“กองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก” ได้อานิสงส์จากความหวังเรื่องการกลับมาเปิดทำการของภาคธุรกิจ บวกด้วยนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ทำให้มีปริมาณความต้องการลงทุนมากขึ้น แนวโน้มเป็นบวกมากขึ้นในฝั่งสหรัฐและยุโรป
และ “เงินดอลลาร์” แข็งค่าขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนกับเศรษฐกิจและตลาดทุนสหรัฐ แนวโน้มมีโอกาสแข็งค่าต่อได้เนื่องจากหลายประเทศยังมีการระบาดของไวรัสขณะที่สหรัฐมีการแจกจ่ายวัคซีนที่ชัดเจนกว่า ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น
แนะนำว่า การลงทุนต่างประเทศตอนนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนตรงหรือผ่านกองทุนก็ได้ โดยความแตกต่างจะอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนและเวลาทำการ เงินบาทมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับหุ้นประเทศเกิดใหม่ ถ้าไม่ต้องการรับความเสี่ยงเพิ่มก็ควรลงทุนผ่านกองทุน
ส่วนการลงทุนตรงไปสหรัฐช่วงนี้มีเงินบาทอ่อนค่ามาช่วย นักลงทุนสามารถลงทุนตรงได้เช่นกัน โดยเมื่อเห็นเงินบาทเริ่มฟื้นตัวก็สามารถขายและกลับมาซื้อกองทุนที่ทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแทนได้
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เทรนด์ใหม่สำหรับการลงทุนต่างประเทศในอนาคต ไม่ได้ลงทุนเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศ ภูมิภาค หรือรายอุตสาหกรรม
แต่จะเป็นการลงทุน “แบบ Thematic”หรือเน้นการคัดเลือกบริษัทที่ได้รับประโยชน์หรือมีผลประกอบการตามการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ EV, พลังงานทางเลือก, Fintech เป็นต้น
“การลงทุนในแบบนี้ เริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลัง และยังมีโอกาสการลงทุนอีกมาก โดยการเข้าถึงการลงทุนแบบThematic จะเป็นการลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศที่มีความเชียวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนFIF จะเพิ่มโอกาสการลงทุนในส่วนนี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนตาม Mega trend ที่อาจจะยังไม่มีบริษัทในไทยให้ลงทุนได้เพียงพอ”
นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนในกลุ่มของ Hedge Fund แม้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในไทย แต่ในต่างประเทศ ผู้จัดการกองทุนระดับโลกมีการใช้กลยุทธ์การลงทุนในแบบ Absolute return และใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน บลจ. มองว่าการลงทุนในแบบนี้สามารถมีแนวโน้มการเติบโตได้ในอนาคต และการเริ่มลงทุนสำหรับนักลงทุนไทยผ่านผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์มานานก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง โดยมีบลจ.ไทย ช่วยคัดกรอง ทั้งในแง่กระบวนการลงทุน กลยุทธ์ที่ใช้ในการลงทุน และมีการติดตามผลการดำเนินงานให้ต่อเนื่อง
นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย กลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทยเปิดเผยว่า เรายังคงแนะนำนักลงทุนกะจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ และตลาดเอเชียที่ตลาดมีการปรับฐานย่อลงมาและมีอัพไซด์ต่อในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นจีน ที่มีความน่าสนใจเหมาะเข้าลงทุนเนื่องจากมีโอกาสเติบ โตค่อนข้างสูง ด้วยประชากรของประเทศจีนที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีสามารถในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น