'รัฐ-เอกชน'ผนึกแก้วิกฤติชาติ '45 CEO' แบ่งทีมจัดหา-ฉีดวัคซีน
45 CEO ร่วมมือหอการค้า ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมแก้ปัญหาวัคซีน จัดทีมหนุนเตรียมพื้นที่ฉีดล็อตใหญ่ที่จะมา มิ.ย.นี้ เจรจารัฐวิสาหกิจจีน หาวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" พร้อมหาผู้ผลิตวัคซีนสหรัฐ
การแพร่ระบาดของโควิด- 19 กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ในขณะที่ปัจจุบันเกิดการระบาดระรอกที่ 3 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูรอบใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ค.2564 ครอบคลุมมาตรการเดิม เช่น การต่ออายุโครงการ "คนละครึ่ง" และ "เราเที่ยวด้วยกัน" รวมถึงการออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นการบริโภค เช่น การดึงเงินออมประชาชนออกมาใช้
ในขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 โดยข้อมูลการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ที่เผยแพร่วันที่ 25 เม.ย.2564 ฉีดไปแล้ว 1.12 ล้านโดส โดยไทยได้รับมอบวัคซีน “ซิโนแวค” ครบ 2.5 ล้านโดส เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา และเตรียมรับมอบวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ล็อตใหญ่ในเดือน มิ.ย.นี้
ความหวังในการพาประเทศก้าวข้ามวิกฤติอยู่ที่ “วัคซีน” ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ ทำให้ภาคเอกชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” เพื่อมาเสริมวัคซีน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงการต่างประเทศได้เจรจากับรัฐบาลรัสเซียและได้รับการยืนยันว่าพร้อมจัดหาวัคซีน “สปุตนิก” ให้ไทย ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน “ไฟเซอร์” และได้รับการยืนยันว่าส่งมอบวัคซีนได้ภายในปีนี้
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วและต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชาชนทั่วประเทศ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจับมือภาครัฐเพื่อให้ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเดินได้เร็วและเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ
ทั้งนี้ภาคเอกชนพร้อมจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ โดยพร้อมออกเงินค่าซื้อและค่าฉีดวัคซีน แต่ให้รัฐเปิดทางให้มีการนำเข้าได้ จึงเป็นที่มาของการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทใหญ่ 45 แห่ง ทุกกลุ่มธุรกิจ ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564
CEO ที่เข้าร่วมประชุม อาทิ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ,พลิษศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์เอเชียโฮลดิ้ง จำกัด ,สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ,กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
การประชุมครั้งนี้ได้ระดมสมองวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน นับเป็นครั้งแรกของ CEO จำนวนมากรวมตัวร่วมแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และบทสรุปของการประชุม คือ เอกชนพร้อมซื้อวัคซีนทางเลือกรวม 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบครัว พนักงานบริษัทและประชาชน
ผลจากการประชุมทำให้หอการค้าไทยและเครือข่าย แบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่
1.TEAM A : Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้กรุงเทพมหานคร เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
ขณะนี้ภาคเอกชนได้ลงพื้นที่สำรวจกับกรุงเทพมหานครระยะแรก 10 พื้นที่รองรับการฉีดวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ที่ไทยจะได้รับเดือน มิ.ย.นี้ เบื้องต้นมีเอกชนนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ,SCG ,เดอะมอลล์ ,สยามพิวรรธน์ ,เอเชียทีค ,โลตัส ,บิ๊กซี ,ทรูดิจิทัลพาร์ค ซึ่งหอการค้าไทยจะสรุปพื้นที่กับกรุงเทพมหานครภายในวันที่ 27 เม.ย.นี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปแต่ละจุดเพื่อลดการเดินทางของประชาชน
การเตรียมการดังกล่าวจะรองรับ "วัคซีนล็อตใหญ่" ทำให้ต้องเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด
2.TEAM B : Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนนี้ ซึ่งจะระบุสถานที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever
3.TEAM C : IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ
4.TEAM D : Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่
สหรัฐ วัคซีน Moderna และ Pfizer
จีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics
อินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech
รัสเซีย วัคซีน Sputnik V