'หยวนต้า' ขึ้นแท่นเบอร์ 1 รายย่อย เบนเข็มลุยธุรกิจเวลธ์
จากรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยกว่า 30 แห่ง ต้องยอมรับว่าชื่อของ "หยวนต้า" เริ่มกลายเป็นที่คุ้นเคยของนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย
ภายหลังบริษัทฯ กลับเข้ามาให้บริการในประเทศไทยปี 2559 โดยไม่ลืมที่จะนำเอาความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัทแม่ "หยวนต้ากรุ๊ป" ประเทศไต้หวัน ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนรายย่อย เข้ามาให้บริการ
"เผดิมภพ สงเคราะห์" กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปรับแผนการทำงานภายในใหม่ โดยจัดให้ทีมผู้แนะนำการลงทุน (IC) ร่วมทำงานกับทีมนักวิเคราะห์ (Research) มากขึ้น ส่งผลให้คำแนะนำการลงทุนแก่ลูกค้าสามารถทำได้ดีขึ้น สะท้อนจากรางวัล SET Awards 2020 ที่บริษัทฯ คว้ารางวัลดีเด่นด้านการให้บริการแก่นักลงทุนบุคคลมาครอง
ขณะที่ในปี 2564 หยวนต้าจะเริ่มเบนเข็มมาให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากหุ้นไทยมากขึ้น เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ หุ้นต่างประเทศ และเงินฝากต่างประเทศ ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะให้บริการผ่านทีมที่ดูแลธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยเฉพาะ
"ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เราตั้งทีมขึ้นมาประมาณ 5 คน เพื่อให้บริการลูกค้า เบื้องต้นไม่ได้กำหนดขั้นต่ำของพอร์ตลงทุน ซึ่งจุดหลักที่เรามาโฟกัสกับธุรกิจเวลธ์ในปีนี้ก็เพราะเป็นธุรกิจที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำให้ได้ดียังเป็นเรื่องที่ท้าทาย"
ส่วนแผนการขยายฐานลูกค้ารายย่อย "เผดิมภพ" กล่าวว่า ปัจจุบันหยวนต้ามีจำนวนบัญชีลูกค้าประมาณ 60,000 บัญชี แต่พบว่าลูกค้าที่ใช้บริการอย่างเป็นประจำ (Active User) อยู่ที่ระดับประมาณ 50% เท่านั้น ส่งผลให้บริษัทฯ เริ่มหันมาทำแคมเปญออนไลน์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเดิมให้กลับมาใช้บริการ โดยตั้งเป้า Active User ในปี 2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60-70%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าดึงดูดกลุ่มลูกค้าเดิมที่เป็น Active User ให้เริ่มมาซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ 2 และที่ 3 นอกเหนือจากการซื้อขายหุ้นที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่ลูกค้าใช้บริการอยู่แล้วอีกด้วย รวมถึงตั้งเป้าดึงดูด 10% ของฐานลูกค้าให้เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Global Trading) ในปีนี้
"แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ง้อลูกค้าใหม่ เรายังคาดหวังการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่การเติบโตในเชิงปริมาณ แต่จะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ อย่างการเติบโตผ่านกลุ่มลูกค้าเดิมที่ยังมีอัพไซด์เหลืออยู่อีกเกือบ 50% เป็นต้น"
สำหรับลูกค้าใหม่ บริษัทฯ มีระบบการเปิดบัญชีออนไลน์ (E-Open Account) รองรับ โดยสามารถเปิดบัญชีได้ค่อนข้างเร็วภายใน 8 นาที ซึ่งภายหลังเปิดให้บริการในปี 2563 ส่งผลให้ยอดเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น 7.76% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ตัวเลขล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกในปี 2564 จำนวนการเปิดบัญชีใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 8.21%
นอกจากการเปิดบัญชีออนไลน์แล้ว หยวนต้ายังเน้นการสื่อสารและให้ความรู้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการจัดรายการประมาณ 7-8 รายการครอบคลุมทุกโปรดักท์ลงทุน เช่น Yuanta WOW!, Wealth Designs by Yuanta และ Chart Perspective เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ ขึ้นเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดออนไลน์สูงสุดในปี 2563
ในส่วยของเครื่องมือซัพพอร์ตการลงทุน บริษัทฯ มีแอพพลิเคชั่น "Yuanta NAVI" ที่ให้บริการครอบคลุมทั้งการซื้อขายหุ้นและกองทุนรวมออนไลน์ แม้จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2563 แต่ปีนี้จะเน้นให้บริการอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากได้พัฒนาระบบ โดยปัจจุบัน Yuanta NAVI สามารถให้บริการสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกันไปแต่ละรายได้
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการประมวลผล และมีฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวก เช่น การเรียกดูบทวิเคราะห์ลงทุน การค้นหาข้อมูลและซื้อขายกองทุนรวม ฯลฯ รวมถึงมีจุดเด่นที่การแสดงโมเดลพอร์ตลงทุนเพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าสามารถลงทุนตามได้อย่างง่าย โดยสามารถแยกดูผลตอบแทนแยกแต่ละสินทรัพย์เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อีกด้วย