'ธุรกิจพลังงาน' ตั้งรับโควิด-19 ระลอก 3 ปัจจัยท้าทายปี 64 เดินหน้าลงทุนตามแผน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่3 ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทายการดำเนินงานของภาคธุรกิจในปีนี้ แม้ว่าหลายธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ได้รับผลทางอ้อมทำให้บางโครงการล่าช้าจากแผน แต่ “ธุรกิจพลังงาน” ก็พร้อมลุยลงทุนตามแผนปี 2564
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การพัฒนาโครงการใหม่ในต่างประเทศ ติดขัดหรือข้อจำกัดด้านการเดินทาง ทำให้ เอ็กโก กรุ๊ป ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่แบบ New Normal ซึ่งมีความท้าทาย แต่ยังทำได้สำเร็จสามารถขยายการลงทุนไปไกลถึงสหรัฐฯ โดยการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน กำลังผลิตติดตั้ง 972 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้จะยังไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแต่บริษัทได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา จึงมีความพร้อมลงทุนและพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดที่ท้าทายนี้ โดยมุ่งขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงและระบบสาธารณูปโภค และธุรกิจ Smart Energy Solution ในทุกวิกฤตมีโอกาสตามแผนธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้
“โควิด-19 ระลอก 3 ไม่มีผลกระทบทั้งโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตลอดจนโครงการใหม่ที่กำลังเจรจา ยังคงดำเนินการตามแผนงานเช่นเดียวกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 1 และ 2”
เอ็กโก กรุ๊ป มีวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการเตรียมการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดตั้งแต่กระบวนการทำงานในสำนักงาน และการเดินเครื่องในโรงไฟฟ้าต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผน BCP ได้แก่ มาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน เช่น การ Work from Home การประชุมออนไลน์ การวัดอุณหภูมิและการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อเข้าอาคารสำนักงาน มาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า เช่น การจำกัดการเข้า-ออกโรงไฟฟ้าของบุคคลภายนอก (Restricted Area) การจำกัดจำนวนพนักงานด้านปฏิบัติงานในห้องควบคุมเป็นกะ มาตรการ Full Lock Down และมาตรการ Isolated Shift Operation เป็นต้น
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ตามแผนการเดิมที่วางไว้ และคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นกว่า
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ปรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมุ่งขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงและระบบสาธารณูปโภค และธุรกิจ Smart Energy Solution พร้อมมุ่งเน้นแสวงหาโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และมีแผนเข้าลงทุนในโครงการใหม่ ในลักษณะการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในประเทศเป้าหมายที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เตรียมงบลงทุนตามแผน 5 ปี(2564-2568) ไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท สำหรับเดินหน้าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา รวมถึงการลงทุนในโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยมองเป้าหมายระยะสั้นภายในปี 2564 คาดว่า จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในพอร์ตโฟลิโอ อีก 1,000 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ในสหรัฐ และโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยปัจจุบัน มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอยู่ที่ 6,016 เมกะวัตต์
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทในทางตรง แต่ในทางอ้อม การแพร่ระบาดในระลอกนี้ แพร่ไปเร็วและการติดเชื้อกระจายวงกว้าง ทำให้บริษัทต้องเพิ่มมาตรการรับมือโดยสั่งการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from Home) ตั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ หรือ หลังวันที่ 15 เม.ย.เป็นต้นไป และก็มีบางส่วนงานที่ต้องกระจายการทำงาน เนื่องจากบริษัทมีโรงงานและหน่วยงานก่อสร้าง ก็ได้เข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น ได้แจ้งให้ผู้รับเหมางานทราบว่าหลังจากหยุดสงกรานต์แล้ว พนักงานจะต้องไม่มีการเดินทางภายใน 3-4 วัน และก่อนเข้าปฎิบัติงานที่ไซต์งานจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งหากทราบว่า ไม่แจ้งไทม์ไลน์และยังเอาพนักงานเข้ามาปฏิบัติงาน แล้วพบว่ามีการติดเชื้อ บริษัทก็จะดำเนินการแบล็คลิส และหากมีค่าใช้จ่ายใดๆเกิดขึ้นทางผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย โดยที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีและทำงานร่วมกันมาได้กว่า 1 สัปดาห์แล้ว
ส่วนในตัวโรงงานก็ได้ให้มาตรการ Work from Home และสลับกันเข้ามาทำงานอย่างละ 50:50 เช่น กรณีคนที่หยุดงานช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9-14 เม.ย. 2564 และกลับมาเริ่มงานช่วง 19 เม.ย. 2564 ทางหัวหน้างานก็จะพิจารณาให้คนที่หยุดก่อนกลับเข้ามาทำงานก่อนหลังตามความเหมาะสม เพื่อลดความแอดอัด หรือเว้นระยะห่างในพื้นที่ทำงานให้มากขึ้น ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ขณะที่ในส่วนของตัวงานใดที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศหรือโรงงาน ก็อนุญาตให้ Work from Home ได้ 100%
“ถามเรื่องของโรงงานก็ไม่ได้กระทบโปรดักทิวิตี้ ฝ่ายขายก็ทำงานได้ตามปกติ ถ้าเป็น Back Office เช่น บัญชีการเงิน ก็แบ่งสัดส่วนของออฟฟิศเก่า-ใหม่อย่างละครึ่ง แต่ถ้าเป็นแผนกก่อสร้างไซต์งานปิดทั้งหมดแล้วเอาพนักงานกระจายออกไปตามหน่วยงาน ตอนนี้ ถือว่าไม่กระทบเป็นตัวเงินกับบริษัท แต่เราได้ปิดความเสี่ยงในตัวพนักงานเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้”
ทั้งนี้ บริษัท ยังเดินหน้าการลงทุนในปีนี้ตามแผนที่ตั้งไว้ โดยในช่วง 3 ปี(2564-2566) ภายใต้กรอบงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือ ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อผลักดันเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแตะ 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปี หรือ เพิ่มขึ้นอีก 400-500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มียอดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วประมาณ 600 เมกะวัตต์ โดยมั่นใจว่า รายได้จะปีนี้ เติบโตตามเป้าหมาย 20% เพราะไตรมาส1 ปีนี้ ผลการดำเนินงานก็ยังมีทิศทางที่ดี ขณะที่ปี2563 ที่ผ่านมา บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดแต่อย่างใด
“งานโรงงานเราทำได้อยู่แล้ว งานประมูลก็ยังเดินหน้าอยู่ อาจมีเลื่อนบางแต่ก็ไม่ระยะเวลาไม่กี่วัน แต่ในระยะยาวถ้ายอดติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น และทำให้หน่วยงานต่างๆหยุดงานนาน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ก็อาจกระทบต่อแผนการประมูลงาน EPC ที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีงานในมือ(แบ็กล็อก)ให้ดีเลย์ออกไปบ้าง แต่ก็คงจะไม่มีผลกระทบค่าปรับเพราะเป็นไปตามสถานการณ์” นางสาวโศภชา กล่าว
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ในปี 2563 กลุ่ม ปตท. เผชิญปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 2 ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการลดลงต่อเนื่องมาจากสงครามราคาน้ำมัน และมาถูกซ้ำเติมจากภาวะการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ทั้งราคาและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างหนัก เกิดผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Stock loss) ประมาณ 8,520 ล้านบาท และ ปริมาณการขายโดยรวมของกลุ่ม ปตท. ที่ลดลงประมาณ 10%
เมื่อเกิดผลกระทบในไตรมาส 1 ปี 2563 กลุ่ม ปตท. จัดตั้งทีม PTT Group Vital Center ขึ้นมาทำหน้าที่วางแผนและดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นที่จำเป็นและต้องทำทันทีก็คือ การบริหารจัดการ “ค่าใช้จ่าย” ทั้งองค์กรผ่านทางนโยบาย “ลด-ละ-เลื่อน” การทำ PTT Group Value Chain Optimization เพื่อบริหารอุปสงค์-อุปทานของปริมาณสินค้าคงคลัง (น้ำมัน-ก๊าซ-ปิโตรเคมี) รวมไปถึงการบริหารสภาพคล่องทางการเงินที่มีความจำเป็นในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้า และพนักงาน
ล่าสุดปี 2564 มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่กระจายไปทั่วประเทศ กลุ่ม ปตท. ประเมินว่าปริมาณการขายในประเทศอาจจะมีผลกระทบบ้างจากสถานการณ์การชะลอตัวในช่วงที่มีการระบาด แต่การประเมินปริมาณขายทั้งปี กลุ่ม ปตท. ยังรักษาให้เป็นไปตามเป้าหมายเดิม
สำหรับในภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ราคาปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ในต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 42 ดอลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่คาดการณ์ราคาในปี 2564 เท่ากับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% รวมถึงความคาดหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น จากการเดินทางมากขึ้นปริมาณการขายและราคาขายปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ กลุ่ม ปตท. สามารถรักษาผลประกอบการได้เป็นไปตามแผน
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ยังคงเดินหน้าลงทุนตามทิศทางกลยุทธ์และแผนธุรกิจที่ได้วางไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายการเติบโตยังคงเป็นไปตามแผนงานเดิม โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและปรับปรุงกระบวนการทำงานมาช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม ปตท. เตรียมแผนการลงทุน 5 ปีในวงเงินกว่า 8.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจหลักและเสริมความสามารถในการดำเนินการ อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 และการขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) อีกกว่า 8 แสนล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย โดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินในธุรกิจ Pharmaceutical, Nutrition และ Medical Device