อาเซียน เผยผลปฏิบัติครึ่งทางตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคืบหน้าทุกด้าน
อาเซียน เปิดผลการดำเนินการตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครึ่งทาง เผย มีความคืบหน้าทุกด้าน ทั้งการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริม MSMEs และการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดประชุมออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความคืบหน้าครบครึ่งทางการทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) หลังจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนธ.ค. 2558
โดยอาเซียนได้หารือเพื่อประเมินผลการทำงานที่ผ่านมา รวม 23 ด้าน อาทิ การค้าสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และการมีความสัมพันธ์กับประเทศนอกอาเซียน ว่าสามารถบรรลุเป้าหมาย ได้มากน้อยเพียงใด ประเด็นใดที่ประสบความสำเร็จ และควรปรับปรุง รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและข้อติดขัด โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
นางอรมน กล่าวว่า การทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ผ่านมาครึ่งทางมีความคืบหน้า ทั้งการดำเนินงานให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ซึ่งเกี่ยวกับการลดเลิกมาตรการภาษี การยกเลิกหรือลดมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนเพิ่มขึ้น ดำเนินการแล้ว 60.3% (จาก 517 มาตรการที่ต้องดำเนินการ) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ผ่านการดำเนินนโยบายการแข่งขันเสรีที่มีประสิทธิภาพการส่งเสริมนวัตกรรม และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 42.1% (จาก 337 มาตรการที่ต้องดำเนินการ) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในสาขาสำคัญ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเรื่องการขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และท่องเที่ยว ดำเนินการแล้ว 52% (จาก 734 มาตรการที่ต้องดำเนินการ)
นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการเพื่อให้อาเซียนสามารถปรับตัวและมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทของภาคเอกชน การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และการลดช่องว่างการพัฒนา ดำเนินการแล้ว 43.5% (จาก 131 มาตรการที่ต้องดำเนินการ) และการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ผ่านความร่วมมือและการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ดำเนินการแล้ว 54.5% (จาก 33 มาตรการที่ต้องดำเนินการ)
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน อาเซียนมีผลงานสำคัญ อาทิ การลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันของอาเซียน ให้เหลือ 0% ดำเนินการแล้ว 98.6% การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-certification) โดยผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของตนเองเพื่อใช้สิทธิทางภาษีในอาเซียน การเชื่อมโยงและใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) เพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ การลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมกันในด้านมาตรฐาน สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารสำเร็จรูป และยานยนต์และชิ้นส่วน
การลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียนฉบับใหม่ ช่วยให้กฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนมีประสิทธิภาพและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น การจัดทำความตกลงว่าด้วยพาณิชย์เล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนและสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์ และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือาร์เซ็ป(RCEP) ซึ่งเป็นเอฟทีเอขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและจะช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศ อาร์เซ็ป