DITTO จัดทัพธุรกิจแบบทีมฟุตบอล ‘กองหน้ารุก-กลางเสริม-หลังเก็บ’ !

DITTO จัดทัพธุรกิจแบบทีมฟุตบอล ‘กองหน้ารุก-กลางเสริม-หลังเก็บ’ !

ได้เวลาเหยียบคันเร่งธุรกิจ ! ‘ฐกร รัตนกมลพร’ นายใหญ่ ‘ดิทโต้ (ประเทศไทย)’ โชว์พันธกิจ จัดทัพ ‘ทีมฟุตบอล’ (กองหน้ารุก-กลางเสริม-หลังเก็บ) ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต 3 ธุรกิจ 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ ระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 6 พ.ค. นี้

จาก ‘ธุรกิจเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร’ สู่ ธุรกิจให้บริการด้านระบบบริหารจัดการเอกสารแบบดิจิทัล (ออนไลน์) ของ ‘4 คนพี่น้อง’ (พี่ชาย 2 คน และพี่สาว 1 คน) ‘ตระกูลรัตนกมลพร’ สัดส่วนถือหุ้น 71.59% (ตัวเลข ณ หลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ) โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 7.50 บาท เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 6 พ.ค.นี้ 

สำหรับการจัดสรรหุ้น IPO ครั้งนี้ ! จะแบ่งเป็นการเสนอขายให้นักลงทุนสถาบันจำนวน 35 ล้านหุ้น ,นักลงทุนรายย่อย 25 ล้านหุ้น และในส่วนของผู้บริหารและผู้มีอุปการคุณจำนวน 20 ล้านหุ้น ขณะที่มองการกำหนดราคาจองซื้อ IPO เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะมีระดับค่าพีอีเพียง 28 เท่า เมื่อเทียบกับค่าพีอีเฉลี่ยกลุ่มที่ระดับ 40 เท่า 

‘ฐกร รัตนกมลพร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการด้านระบบบริหารจัดการเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ อย่างครบวงจร และรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ บอก ‘จุดเด่น’ สร้างการเติบโตให้ ‘กรุงเทพธุรกิจ BizWeek’ ฟังว่า 

รูปการทำงานในรูปแบบ Work From Home คือ หนึ่งในปฏิกิริยาตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้พฤติกรรมขององค์กรจำต้องปรับเปลี่ยนจากเอกสารในรูปแบบกระดาษเข้าสู่เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการทำงานในยุคโควิด-19 

161977165223

ฐกร รัตนกมลพร

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ เขายอมรับว่า เมื่อต้องการ ‘ปลดล็อค’ การเติบโตของธุรกิจ เงินระดมทุนจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อไปขยายธุรกิจ โดยเป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนครั้งนี้ คือ การนำเงินไปขยายลงทุนกระจายศูนย์การให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้บริการบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลบนระบบ Digital อย่างครบวงจร และ ขยายศูนย์ให้บริการอีก 9 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล , ภาคเหนือ , ภาคกลาง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อกระจายทีมงานและเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการจากส่วนกลางโดยการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ มูลค่า 219 ล้านบาท 

และเงินลงทุนอีก 50 ล้านบาท สำหรับพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารเพื่อให้บริการในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบริหารจัดการเอกสารจากที่ใดก็ได้ผ่านระบบคลาวด์ และไม่ต้องลงทุนในซอฟแวร์ หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ โดยจะจับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้จะพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2563) มีกำไรสุทธิเติบโตอยู่ที่ 13.37 ล้านบาท 56.27 ล้านบาท และ 114.20 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 425.13 ล้านบาท 775.06 ล้านบาท และ 988.18 ล้านบาท ตามลำดับ 

ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร 2. ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ และ 3. ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ

'โมเดลธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้าจาก ‘อนาล็อก’ (Analog) เป็น ‘ดิจิทัล’ (Digital) ชนะยุคโควิด-19' ซีอีโอ บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) มีความเชื่อเช่นนั้น ! 

161977169460

ธุรกิจเครื่องถ่สยเอกสาร 

ด้วยการโฟกัสธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสารดิจิทัล ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี่คือ ธุรกิจ ‘ดาวรุ่ง’ สะท้อนผ่านการเติบโตระดับสูงเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 127% ถือเป็นอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ! 

ก่อนจะเข้าเรื่องแผนธุรกิจ ‘ซีอีโอหนุ่ม’ เล่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจว่า ก่อตั้งธุรกิจกับพี่ชายและพี่สาวปี 2544 เนื่องจากเห็นโอกาสทางธุรกิจเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร หลังจากเห็นภาพหน่วยงานรัฐเวลาเครื่องถ่ายเอกสารเสียต้องใช้เวลารอซ่อมนาน เพราะต้องรอตั้งงบประมาณเบิกค่าซ่อม ซึ่งทำให้การบริการประชาชนล่าช้ามาก ทำให้เห็นโอกาสธุรกิจจากขายเครื่องถ่ายเอกสารมาเป็นโมเดลการเช่าแทน ตอนนั้นธุรกิจประสบความสำเร็จรวดเร็วมาก เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด ทำให้บริษัทมีการขยายธุรกิจให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารครอบคลุมทั่วประเทศประมาณ ‘หมื่นเครื่อง’ ซึ่งช่วงแรกสัดส่วนลูกค้าเป็นราชการ แต่ ณ ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้า 60% เป็นเอกชน และ 40% เป็นราชการ โดยมีระยะเวลาสัญญาเช่าระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป 

แต่หลังจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเข้ามาของดิจิทัลในรูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้การบริการจัดการเก็บข้อมูลเอกสารในองค์กรเริ่มมีปัญหา เนื่องจากข้อมูลลูกค้าจะถูกจัดเก็บเป็นเอกสารกระดาษ แต่เมื่อระบบออนไลน์เข้ามาทำให้บริษัทเห็นช่องทางธุรกิจใหม่ จึงเริ่มศึกษาเรื่อง ‘ซอฟต์แวร์’ (Software) เพื่อรองรับการบริหารจัดการเอกสารลูกค้าในองค์กร ทำให้ปี 2558 ได้รับเลือกจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้มาจัดเก็บข้อมูลลูกค้าจากกระดาษเข้าสู่ระบบดิจิทัล หลังความนิยมทำธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนมาเป็น ‘โมบายแบงก์กิ้ง’ มากขึ้น โดยบริษัทเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลลูกค้าเข้าสู่ระบบดิจิทัลจำนวน 300 ล้านหน้า 

'จากจุดนั้น ทำให้มองเห็นอีกหนึ่งโอกาสการเติบโต เนื่องจากเชื่อว่ายังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเอกสารจากกระดาษมาเป็นดิจิทัล และด้วยผลงานที่ผ่านมาทำให้โอกาสทางธุรกิจของเรายังมีอีกมาก' 

เขา แจกแจง แผนธุรกิจสร้างการเติบโตใน ‘3 ธุรกิจหลัก’ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งงานภาครัฐและเอกชน โดยใช้แผนธุรกิจแบบ ‘ทีมฟุตบอล’ ที่มีกลยุทธ์การลงทุน ‘กองหน้ารุก-กองกลางเสริม-กองหลังเก็บ’ ในการสร้างการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต 

โดย ‘กองหน้า’ ที่จะเป็นหัวหอกสร้างการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 127% คือ ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร คิดเป็นสัดส่วนรายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 39% จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนรายได้ต่ำกว่า 30% 

ทว่า นับตั้งแต่ปีที่แล้วมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปฏิกิริยาเร่งธุรกิจกองหน้าปรับตัวเติบโตก้าวกระโดด หลังรูปแบบการทำงานแบบ Work From Home ส่งผลให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต้องพัฒนาระบบข้อมูลเป็นระบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้าน ยิ่งเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลเป็นกระดาษมากสุด และต้องปรับเปลี่ยนระบบเป็นดิจิทัลเพื่อเสิร์ฟประชาชน 

ฉะนั้น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกองหน้าจะเป็นหน่วยงานรัฐ สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทดำเนินการให้อย่าง ‘ศาลยุติธรรม’ ในการยืนสำนวนคดีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) และการเก็บสำนวนคดีให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นศาลยุติธรรมต้องพัฒนาระบบหลังบ้านให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทำให้บริษัทมีโอกาสเข้าไปบริหารจัดการเก็บข้อมูลสำนวนคดีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยเบื้องต้นเป็นผู้พัฒนาระบบให้ศาลทั่วประเทศจำนวน 290 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท 

ล่าสุด ในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทเพิ่งชนะการประมูลเฟสแรกของ ‘กรมที่ดิน’ มูลค่า 100 ล้านบาท ในการนำหลังโฉนดที่ดินเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 ล้านแปลง (เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สิงห์บุรี และเพชรบุรี) หลังก่อนหน้านี้มีการนำหน้าโฉนดเข้าระบบไปแล้ว โดยปัจจุบันที่ดินทั่วประเทศมีทั้งหมด 33 ล้านโฉนด และนส.3 ก จำนวน 5 ล้านโฉนด ที่มีนโยบายนำหลังโฉนดเข้าระบบเช่นกัน 

‘หากรวมทั้งทั้งหมดน่าจะราวๆ 40 ล้านโฉนด ที่คาดว่าจะนำหลังโฉนดเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด สะท้อนว่าตลาดดังกล่าวยังมีอีกมหาศาล’ 

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการอีกมากที่จะต้องพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ กรมตำรวจ , อัยการ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะรักษาการเติบโตให้สอดคล้องไปกับตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัล ซึ่งจากข้อมูล ฟอร์ท แอนด์ ซัลลิวัน คาดการณ์ขนาดตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัลใน 5 ปีข้างหน้า (2563-2568) จะเติบโตเฉลี่ย 75% ต่อปี หรือปี 2563 อยู่ 729.1 ล้านบาท และเติบโตถึง 12,000 ล้านบาทในปี 2568 แบ่งเป็นราชการ 9,000 ล้านบาท และเอกชน 3,000 ล้านบาท 

ขณะที่ ‘กองกลาง’ โดย 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 97% คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30.7% คือ ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยบริษัทมีการจัดการระบบท้องฟ้าจำลองและพิพิธภัณฑ์ และมีอีกธุรกิจที่กำลังสร้างการเติบโตระกับที่ดีในระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) 

สำหรับ ‘กองหลัง’ เป็นพอร์ตที่สร้าง ‘รายได้ประจำ’ (Recurring Income) สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง คือ ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30.3% 

และปัจจุบันมีอีกธุรกิจที่ซ้อนอยู่เป็นธุรกิจอยู่ในเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล คือ ธุรกิจไดร์ฟทรู (Drive Thru) โดยบริษัทเป็นคนติดอุปกรณ์และระบบหลังบ้าน ปัจจุบันลูกค้า เช่น สตาร์บัคส์ , อเมซอน , แมคโดนัลด์ , เบอร์เกอร์คิง , เคเอฟซี , ชาตรามือ ,วราภรณ์ซาลาเปา เป็นต้น โดยปัจจุบันเมืองไทยมีไดร์ฟทรู 200 แห่ง ซึ่งอนาคตการบริการรูปแบบไดร์ฟทรูกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สะท้อนผ่านผู้บริโภคเริ่มเข้าใจการให้บริการมากยิ่งขึ้นแล้ว 

1619771729100

ธุรกิจไดร์ฟทรู หนึ่งในดาวรุ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ รวม 447 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูล , ธุรกิจ ให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ จำนวน 275.38 ล้านบาท และธุรกิจ รับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ จำนวนรวมราว 172 ล้านบาท

ท้ายสุด ‘ฐกร’ ทิ้งท้ายไว้ว่า โมเดลธุรกิจสามารถตอบโจทย์งานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการพัฒนาระบบของทุกศูนย์ทั่วประเทศในเวลาเดียวกัน และคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะรักษาการเติบโตให้สอดคล้องไปกับตลาดการจัดการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล