6 ข้อเสนอ 'ธนินท์' ฝ่าโควิดระลอก 3 ชี้เป้า 'ตลาดวัคซีน' กำลังเป็นของผู้ซื้อ
CP สรุป 6 ประเด็น เจ้าสัวธนินท์ แนะนำช่วงวิกฤตโควิดเวฟ 3 เผยความคืบหน้าล่าสุดการสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม ในโรงพยาบาลสังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ
3 พฤษภาคม 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,041 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 70,425 คน และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 31 คน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะเสียชีวิตในระยะเวลา 10 วัน ต่างจากระลอกแรกที่เคยนอนรักษาเป็นเดือน ทำให้ทุกภาคส่วนมีบทบาท ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชน
ล่าสุดเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เดินเครื่องสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม ในสังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ ตามเจตนารมย์ของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้กรอบงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนามแก่โรงพยาบาลที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
ในส่วน นายธนินท์ ผู้ที่ถือว่าได้ผ่านมาหลายวิกฤต ได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจในการปรับตัว และมีหลายเรื่องที่น่าคิดสำหรับนำมาปรับใช้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1."การรักษาชีวิตตัวเองไม่ให้ไปติดเชื้อ รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และไม่เอาไปติดคนในครอบครัว คือการช่วยประเทศแล้ว" ชีวิตของตัวเองสำคัญที่สุด คนไทยทุกคนต้องไม่ไปสุ่มเสี่ยง
2."ภาคเอกชน ต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด" บริษัทใดที่สามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ ให้ทำ Work from Home องค์กรที่มีกำลังต้องดูแลพนักงานตัวเองให้ดี รักษาธุรกิจให้รอดไปได้ แม้จะยากลำบาก ก็ต้องพยายาม ดูแลพนักงาน พยายามไม่ปลดพนักงาน เพราะ "ยามมืดต้องคิดถึงเมื่อยามสว่าง"
3."วัคซีน มีหลากหลายยี่ห้อ ไฟเซอร์, วัคซีนสปุตนิค วี ของรัสเซีย วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และตัวเลือกอื่นๆ ควรมีวัคซีนทางเลือก มีเยอะดีกว่าขาด เอกชนพร้อมนำเข้าวัคซีนส่วนเสริม นำมาให้พนักงาน เป็นการลดภาระภาครัฐอีกทางหนึ่ง" ต้องนำเข้ามารวดเร็ว
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดวัคซีนทั้งหลายเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อต่อให้มีเงิน อาจซื้อได้ยาก เพราะมีผู้ต้องการซื้อทั่วโลก แต่หลังจากนี้จะเป็นตลาดผู้ซื้อ ทำให้โอกาสเข้าถึงวัคซีนที่หลากหลายเป็นไปได้มากขึ้น และ หลายประเทศในโลกก็มีวัคซีนเกินจำนวนคนในประเทศแล้ว
4."นอกจากหาวัคซีนแล้ว ยารักษาเป็นส่วนสำคัญ ยิ่งได้ยาเร็ว ยิ่งมีโอกาสรอด" ควรมีการสนับสนุนการจัดหายา และ ยาทางเลือก รวมทั้งยาที่เป็นความรู้ของแพทย์แผนไทยด้วย อย่างเมืองจีน มียาพื้นถิ่นที่ขับเสมหะ ทำให้คนจีน ลดอาการป่วยหนักได้ ยาแผนไทยก็มีหลายตัวที่เอามาใช้ได้ หากสนับสนุนให้ดี
5."รายเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ เกื้อกูลกัน ต้องไม่ให้ล้ม รักษาชีวิตธุรกิจไว้ให้ได้" การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ธนาคาร และ ภาคธุรกิจ การที่เอสเอ็มอี เข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินสดไม่พอ เช่น เอกชน สามารถการรับรองคู่ค้าที่มีคุณภาพกับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยเงินกู้ให้คู่ค้า เอสเอ็มอี รายย่อยทำให้อยู่รอดไปด้วยกัน เป็นต้น
6. "หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์คือนักรบด่านหน้า วันนี้ต้องให้กำลังใจ และ สนับสนุน" หมอ พยาบาล ต้องสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น และความปลอดภัยของหมอ พยาบาลสำคัญที่สุด มีเตียงแต่ไม่มีหมอ ก็ไม่สามารถชนะวิกฤตครั้งนี้ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันไปเสริมสิ่งที่ขาด ต้องฟังคนที่อยู่หน้างาน
พลอากาศโท ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า ขอขอบคุณเครือซีพี ในฐานะภาคเอกชนที่ห่วงใยและร่วมแรงร่วมใจในการสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง ถือเป็นขวัญกำลังใจแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัด กรมแพทย์ทหารอากาศ
ขณะนี้เราได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสนับสนุนครั้งนี้ถือเป็นการแสดงน้ำใจและกำลังเสริมสำคัญในการช่วยประเทศไทยให้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือว่าได้ว่ามีหลากหลายแนวคิดและสารพัดแนวทางจากคนหลายภาคส่วนในสังคม