ฝนปี 64เริ่ม11-12 พ.ค.นี้ มีพายุ 2-3 ลูก น้ำมากพอควร เสี่ยงท่วม 32 จ.

ฝนปี 64เริ่ม11-12  พ.ค.นี้ มีพายุ 2-3 ลูก น้ำมากพอควร เสี่ยงท่วม 32 จ.

ผ่านแล้ง ไปด้วยดี สำหรับปี 64 ไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11-12 พ.ค. นี้ และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปี 2551 น้ำจะพอสมควร

เป้าหมายเก็บน้ำให้ได้ ประมาณ 4 หมื่นล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  มีพายุเข้า 3 ลูก  พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก 32 จังหวัด กรมชลประทานจึงต้องเตรียมมาตรการรับมือ พร้อมเก็บน้ำไว้ใช้แล้งหน้า ให้ได้มากที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า แรงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะส่งผลให้ไทยเข้าสู้ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. นี้หรือในวันที่ 11-12 พ.ค. 2564  ดังนั้นกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานจึงต้องดำเนินการเตรียมรับมืออย่างเต็มที่  เก็บน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด เป้าหมายคือ ต้องมีน้ำใช้การได้รวมประมาณ 4 หมื่นล้าน ลบ.ม.

รวมทั้งต้องกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อวางแผนช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่ ส่วนหนึ่งเพราะสภาพภูมิอากาศ และอากาศของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงต้องวางแผนให้เหมาะสม เพื่อการเข้าไปช่วยเหลือย่างมีประสิทธิภาพ

162037442171

เสื้อตัวเดียว จะใส่กันทั้งประเทศไม่ได้ การวางแผนอย่างเหมาะสมจึงมีความจำเป็นแล้วทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เอาปัญหาต่างๆมาเป็นตัวตั้ง  ซึ่งการทำงานหลังจากนี้อยากให้เน้นการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ในแผนงานต่างๆที่กรมชลประทานจะเริ่มทำ จะส่งผลให้การทำงานของเราง่ายขึ้น  แม้จะเป็นช่วงโควิด แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ “ 

อย่างไรก็ตามประชาชนในพื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐด้วย เพื่อให้การปริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน ทั้งนี้เพราะการที่ไทยไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง  ปริมาณน้ำที่มีอยู่ 100 % พึ่งพาฝนเป็นหลัก ปริมาณฝนที่ตกทุกปีมีมากพอที่จะทำการเกษตรได้ แต่ไทยไม่สามารถจัดเก็บน้ำฝนได้อย่างพอเพียง  โดยสาเหตุ เป็นเพราะ อ่างเก็บน้ำ มีไม่ทั่วถึง  หรือฝนตกไม่ตรงกับพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำอยู่

ดังนั้นนายกรัฐมนตรี  จึงมีนโยบายให้เกษตรกรขุดสระน้ำเอาไว้รองรับน้ำฝนเพื่อเก็บไว้ใช้เอง  ถ้าไทยสามารถเก็บน้ำได้มากกว่านี้ ไม่ปล่อยให้น้ำฝนทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์  ความรุนแรงของภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปีก็จะบรรเทาลง 

นางสาวสุกันยาณี  ยะวิญชาญ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ มีแนวโน้มสูงกว่า ค่าเฉลี่ย 30 ปี   คล้ายกับสถานการณ์ในปี 51  ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศจะมีค่าสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะ เหนือและกลางบนจะมากกว่าค่าปกติมาก ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ที่ต่ำกว่าค่าปกติ   โดยฝนในกลางเดือน พ.ค.- มิ.ย. จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 40-60 % ของพื้นที่ และตกหนักในบางพื้นที่ยกเว้นภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีฝน 60-80 % ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง

 

ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.- ก.ย. ฝนจะตกชุกหนาแน่น 60-80 % ของพื้นที่กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่งก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่  แต่ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนก.ค. ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน   และเดือน ต.ค. บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลงและเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง 

“ฤดูฝนปีนี้จะเริ่มในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. ช่วง วันที่11-12  พ.ค. นี้ และสิ้นสุดกลางเดือน ต.ค.  คาดว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. “

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรณีสภาพฝนที่คล้ายกับปี 51 นั้น คาดว่าจะมีพื้นที่ต้องการน้ำประมาณ  3 หมื่นล้าน ลบ.ม.  แยกเป็นเพื่อการเกษตร 2.16 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 2.67 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 849 ล้าน ลบ.ม. และระบบนิเวศและอื่นๆ 5.2 พันล้าน ลบ.ม.  

ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องวางแผนการใช้น้ำ ซึ่งได้เริ่มไปแล้วโดยการสนับสนุนให้พื้นที่ทุ่งบางระกำ ให้ทำนาปีตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาจำนวน 2.8 แสนไร่ ส่วนการทำนาปีในพื้นที่อื่นๆ ได้สนับสนุนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก  โดยปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นและคล้ายกับปี 51 นั้น พบว่า ได้ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ใน 32 จังหวัด

  กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือ คือวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานมนพื้นที่ จัดสรรทรัพยากร เช่นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทรคเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอโดยเฉพาะจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม และเตรียมพร้อมใช้งานตลอดเวลาตามแผนที่วางไว้