ตลาดอุปกรณ์ชาร์จ“อีวี”พุ่ง คาด 4 ปี แตะ 1.4 หมื่นล้าน
ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการผลิตรถ รวมถึงการลงทุนสถานีชาร์จ เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีการคาดการณ์ถึงตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่จะสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 ปี
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้ประกอบการด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไทยขยายตัวสูงมาก คาดว่าปี 2564–2565 ขยายตัว 50% และอนาคตจะขยายตัวมากกว่านี้ รวมทั้งขยายตัวสูงที่สุดในอาเซียน เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน EV ที่ดีกว่า ซึ่งขยายตัวมากกว่ายุโรปและสหรัฐที่ขยายตัวระดับ 20-30% เนื่องจากฐานการใช้ EV ของไทยต่ำกว่า
ทั้งนี้ ตลาด EV ที่เพิ่มขึ้นทำให้ปัจจุบันตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) ได้รับความสนใจเพราะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้ EV มากขึ้น โดย EV Charging ในไทยมี 2,100 หัวชาร์จ และผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาจับตลาดนี้ จึงคาดว่าใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะใช้รถ EV ทุกประเภทปี 2568 ที่ 1.05 ล้านคัน โดยรัฐบาลเดินหน้ามาถูกทางแล้วจากนโยบาย 3 ประการ ได้แก่
1.นโยบายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์และรัฐบาลมีแผนแม่บทที่ชัดเจนในพัฒนา EV โดยเฉพาะการตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่จะสนับสนุนให้ EV ในไทยถูกลงและเข้าถึงง่ายขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายจับมือกับภาคเอกชนในภาคบริการรถขนส่งสาธารณะให้เปลี่ยนมาใช้รถ EVอีวี แทนรถขนส่งสาธารณะเดิมที่ปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมปริมาณมาก ซึ่งสนับสนุนให้เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ EV
2.ค่ายรถยนต์หันมาผลิต EV ในตลาดรถยนต์ราคาประหยัดที่ราคาจับต้องง่ายขึ้น และเริ่มเห็นราคาจำหน่ายในไทยต่ำกว่า 1 ล้านบาท หลายรุ่น โดยเฉพาะรถนำเข้าจากจีนที่ได้สิทธิประโยชน์ภาษีทำให้ผู้ใช้รถตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ปัจจัยนี้มองว่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของตลาดอีวี EV Charging ในรูปแบบการชาร์จตามบ้านมากที่สุด เพราะผู้ใช้รถขนาดเล็กราคาประหยัดจะเน้นชาร์จที่บ้านที่มีต้นทุนพลังงานถูกกว่า
3.นวัตกรรมการชาร์จที่เร็วขึ้นแต่วิ่งได้ไกลขึ้น จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีของค่ายรถที่ผลิตรถรุ่นใหม่ให้ชาร์จเร็วได้ภายในเวลาสั้นลงและขับได้ไกลขึ้น การพัฒนานี้ตอบสนองผู้ใช้รถมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมที่จะขับระยะทางใกล้ เปลี่ยนเป็นขับไกลขึ้นและเดินทางไปต่างจังหวัดด้วย EV มากขึ้น จากการพัฒนานี้จะสนับสนุนการเปิดสถานีบริการชาร์จเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
“บริษัทฯ มองว่าในอนาคตจะเกิดการแข่งขันที่สูงในตลาด EV Charging ตามการคาดการณ์ว่าตลาดรถอีวี จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และความต้องการเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องชาร์จในราคายุติธรรม ทั้งนี้ราคาของอุปกรณ์การชาร์จรถ ถือว่าปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกับราคาของรถ โดยในช่วงที่นำเข้าแรกราคาจะอยู่ในหลักแสนบาทขึ้นไป แต่ในปัจจุบันราคาได้ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก เริ่มต้นที่ 40,000 บาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี”
อย่างไรก็ตาม มาตรการผลักดันการใช้และการลงทุนผลิตรถที่ได้ผลรวดเร็วขึ้น รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยการกำหนดมาตรฐานการติดตั้งและการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุนเพราะกังวลว่าจะต้องปรับเปลี่ยนภายหลังทำให้กำหนดต้นทุนได้ยาก
รวมทั้งเปิดให้สถานีชาร์จไฟฟ้าเอกชนขายไฟฟ้าได้โดยตรง และกำหนดค่าไฟฟ้าขายส่งที่จูงใจ และมีอัตราตราต่ำกว่าในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 6 บาทต่อยูนิต ให้ลดลงเหลือประมาณ 3-4 บาทต่อยูนิค เพื่อให้นำไปขายให้กับผู้เข้ามาชาร์จไฟฟ้าในราคา 6-7 บาทต่อยูนิต ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน เพราะถ้าหากแพงกว่าชาร์จไฟบ้านผู้บริโภคก็เลือกที่จะชาร์จที่บ้านมากกว่าข้างนอก จะใช้บริการเฉพาะที่ต้องเดินทางไกลเท่านั้น
รวมทั้งยังทำให้ผู้ใช้ EV ประหยัดต้นทุนการเดินทางและขนส่งได้ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นการประหยัดค่าพลังงานของประเทศ และช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ตรงจุด
“มาตรการส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการใช้ EV อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฐานการใช้ EV ของอาเซียน นำไปสู่การตั้งฐานการผลิตรถและชิ้นส่วนได้ดีกว่ามาตรการทางภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพราะมาตรการบีโอไอมีข้อจำกัด และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้าไทยโดยปลอดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี แต่หากใช้กลไกตลาดเมื่อมีผู่ใช้มากขึ้น ก็จะเกิดการตั้งฐานการผลิตตามมา”
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนทุกด้านอย่างรวดเร็ว และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย มีแรงดึงดูดที่ดีกว่า เนื่องจากไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้มแข็งเหมือนไทย สามารถเริ่มต้นอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีได้เร็วกว่าไม่ต้องกังวลกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิม และใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ามาก
ทั้งนี้ หากหากไทยยอมเจ็บตัวในวันนี้อาจจะกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในแบบเดิมอยู่บ้าง แต่อนาคตจะยังคงศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียนได้ แต่หากล่าช้าจะถูกประเทศคู่แข่งแย่งการลงทุนไป และจะกระทบต่อซัพพลายเชนอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบของไทย ที่พึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายในถึง 70%