เศรษฐกิจ
เมื่อ ‘หมอ’ ติดโควิด
(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) เรื่องเล่าเมื่อหมอติดโควิด ติดเชื้อแล้วทำไง โดย พญ.สุวรรณรัตน์ สิงหะบุระอุดม รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก
ย้อนไปวันแรกคืนที่ทราบผล เราพยายามข่มตาหลับ บอกตัวเองอย่าเครียดๆ เรียนทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ นับแกะก็แล้ว ไม่ช่วยให้คลายกังวลได้เลย
ป่วยก็ต้องนอนพักให้มาก จะได้มีแรงสู้กับเชื้อโรค... แต่ก็นอนได้แค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น
มันก็คงมีเรื่องให้คิดหลายเรื่องนะ ติดโควิดซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่น่ากลัวในช่วงนี้
คิดเรื่องงาน ใครจะทำแทน
คิดถึงครอบครัวที่สูงอายุจะติดจากเรามั้ย
คิดถึงคนไข้ที่มาตรวจทั้งรพ.และคลินิก
คิดถึงรายได้ที่หายไป คงปิดคลินิกเกือบเดือน โชคดียังทำประกันไว้บ้าง(รพ.ทำประกันโควิดไว้ใก้จนท.ทุกคน)
ไหนๆก็นอนไม่หลับ ก็นั่งทบทวนว่าเราไปไหน ใกล้ชิดใคร และประเมินความเสี่ยงของคนที่มาใกล้เราว่ามากน้อยแค่ไหน
ดีว่าก่อนหน้านี้ทำไทม์ไลน์ให้คนไข้ที่ติดเชื้อโควิดมาก่อน ได้สอบถามความเสี่ยง ติดตามและโทรประสาน ฉะนั้นเมื่อเกิดกับตัวเองจึงไม่ยากที่จะประเมินว่าใครเสี่ยง และควรมาตรวจ
..แล้วก็คิดว่าลูกสาวติดแน่ๆเพราะอาการเหมือนกัน ก่อนหน้านั้นก็ดันกินน้ำขวดเดียวกันอีก.. ต่อไปก็กินของใครของมันนะลูก แต่มันยากนะ อยู่บ้านเดียวกัน (โชคดีคุณยายที่อยู่ด้วยกันไม่ติด)
สิ่งที่เราทำคือพยายามบอกให้คนอื่นรู้ว่าเราติดโควิด ทั้งๆที่ในใจกลัวถูกคนอื่นตำหนิ กลัวถูกรังเกียจ พยายามบอกคนที่มาใกล้ชิดว่าอย่าได้กังวล ถ้าใครไม่แน่ใจให้ถาม ใครเสี่ยงเราจะแจ้งให้มาตรวจ
หลังจากแจ้งไป เราได้กำลังใจกลับมามากมาย กายป่วยแต่ใจดี มีพลังก็พอ คนไข้ที่ติดโควิดทุกคนก็คงต้องการแบบนี้ เค้าไม่อยากปิดบังหรอกแต่เค้าคงกลัวผลกระทบมากกว่า.. แต่ก็อยากบอกผู้ติดเชื้อไว้ บอกความจริง บอกว่าเสี่ยง บอกว่าติดเชื้อ จะทำให้คนใกล้ชิดเราเสี่ยงน้อยลง
บ่ายๆก็มีรถรพ.มารับไปนอนรพ. เข้าไปนอนในห้องพิเศษที่ถูกจัดสำหรับคนไข้โควิด(จินตนาการไว้ว่าจะได้นอนในห้องโล่งๆที่มีหลายๆเตียงเหมือนในทีวี ดีที่จังหวัดเราเคสไม่มาก เลยได้นอนห้องละ 2 คน) เดิมเคยเป็นห้องพิเศษแผนกกระดูก แต่เนื่องจากผู้บริหารของรพ.เห็นว่าช่วงนี้คนไข้ปกติถูกเลื่อน การผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินถูกเลื่อนออกไป จึงได้เตรียมห้องแยกไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด
ห้องที่เคยตกแต่ง ถูกเอาผ้าม่านออก(มีอยู่วันหนึ่งฝนตก ฟ้าผ่าตลอด.. ชัดเจนทั้งภาพและเสียง มากๆ) ในห้องถูกจัดให้มีของน้อยๆเพื่อง่ายต่อการดูแล มีถังขยะติดเชื้อ และมีอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ ที่หนีบนิ้ววัดออกซิเจน
ที่นั่นจะตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อให้คนไข้วัดค่าต่างๆส่งไปให้คุณพยาบาลทุก 4 ชม. (6.00, 10.00, 14.00, 18.00, 22.00, 02.00) จะไม่มีจนท.เข้ามาในห้องเราเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
และช่วง 10.00 น. เราจะต้องเดิน 6 นาที ระหว่างนั้นก็ใช้เครื่องหนีบนิ้ววัดออกซิเจน(O2 sat) ไม่ควร<96% หรือต่ำกว่าที่วัดปกติ 3% อันนี้แหละที่ทำให้เราได้รู้ว่าเริ่มติดเชื้อที่ปอด เพราะคนไข้ไม่ได้เหนื่อยหอบมาก แค่รู้สึกหายใจไม่สุด ไม่เต็มปอด ที่เค้าเรียกว่าhappy hypoxemia ตอนนั้นเราเดิน O2 sat ได้แค่ 92 และชีพจรก็ขึ้นเป็น 150 แต่ถ้าวัดตอนอยู่เฉยๆ ก็ได้ 97-99%ตลอด
ส่วนรอบ 6.00 และ 18.00 เราจะต้องรายงานว่าเราปัสสาวะ อุจจาระไปกี่ครั้ง
ในห้องเราจะมีกล้องวงจรปิด เพื่อให้คุณพยาบาลได้เห็นคนไข้ และมีที่กดคอลพูดกับเคาท์เตอร์พยาบาลหากต้องการความช่วยเหลือหรือบอกเล่าอาการ
วันแรกต้องโดนเจาะเลือด และเอกซเรย์แบบที่ไม่ปกติ เพราะเจาะเลือด เราจะสอดแขนเข้าไปในถุงที่มีฉากกั้น แล้วก็เจาะ ส่วนเอกซเรย์ เราจะต้องกอดแผ่นฟิล์มไว้ที่อก สูดหายใจเข้าให้ลึกและกลั้นไว้ ในช่วงนี้ จนท.เอกซเรย์ก็จะใช้วิทยายุทธกดถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดอย่างรวดเร็ว
วันไหนเราอาการดี เราก็จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ในกลุ่ม ความดันใครมีปัญหา หนีบนิ้วไม่ดี เราจะมีคำแนะนำให้ เพราะเรารู้ว่าหมอที่มาดูแลคนไข้โควิด ต่างมีงานประจำที่เหนื่อยมากแล้ว หากเราช่วยแบ่งเบาภาระได้คงดี ตอนแรกคนไข้ที่นั่นก็คงงงว่าเจ้านี่เป็นหมอหรือเป็นคนไข้ สักพักก็ชินกัน เพราะช่วยดูแลไปหลายเคส แถมคุณพยาบาลบอกอุ่นใจดีมีหมอคอยช่วยดูแลตลอด แต่วันไหนแย่เราก็นอนๆๆๆ ซึ่งวันที่เรามีอาการส่วนใหญ่คนอื่นอาการดีแล้ว
อาหารที่รพ.มีให้ 3 มื้อ ใส่ภาชนะใช้แล้วทิ้ง พวกชามกระดาษ ต้องบอกว่าอาหารรพ.อร่อยมากๆ เป็นแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว แม่ครัวที่นี่ฝีมือดี(เปิดร้านได้สบายมาก) เมนูหลากหลาย แล้วเรายังสามารถสั่งอาหารจากข้างนอกมาทานได้ แต่จะมีรปภ.ด้านล่างคอยรับให้ ส่งต่อมายังด้านบนอีกที ซึ่งจะมีเวลารับส่งให้ว่าช่วงไหนได้บ้าง