ความโหดร้ายมาจากไหน | วรากรณ์ สามโกเศศ

ความโหดร้ายมาจากไหน | วรากรณ์ สามโกเศศ

เหตุใดมนุษย์จึงโหดร้ายต่อสัตว์อื่นและมนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งๆ ที่ในจิตใจก็มีความอ่อนโยนและมีเมตตาอยู่ด้วย บังเอิญได้เห็นข้อเขียนในเรื่องนี้จากหลายนักวิชาการ จึงขอประมวลมาเพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงดูลูกหลานและหลีกเลี่ยงความโหดร้ายที่ตนเองอาจกระทำต่อผู้อื่น

ความโหดร้าย (cruelty) ในโลกตะวันตกหมายความว่า “เพิกเฉยต่อความเจ็บปวดทรมาน” “การจงใจสร้างความเจ็บปวด” “ได้รับความพอใจจากการสร้างความเจ็บปวด” พจนานุกรมพุทธศาสตร์เรียกว่า “วิ หิงสา” ซึ่งหมายถึง “การเบียดเบียน” “การทำร้าย”

คำตอบว่าเหตุใดมนุษย์จึงโหดร้าย ตอบได้ยากเพราะมันซับซ้อนและเกี่ยวพันไปถึงเรื่องจิตวิทยา วัฒนธรรมและปัจจัยด้านชีววิทยา อย่างไรก็ดีคำอธิบายอาจเป็นดังนี้

1.ด้านจิตวิทยา 

(ก) ความโหดร้ายบ่อยครั้งทำให้ผู้กระทำรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือเหยื่อ มีความวิเศษกว่าเพราะสามารถครอบงำได้

(ข) การกระทำเป็นการชดเชยทางจิตวิทยาเพื่อลบล้างความรู้สึกโกรธแค้น ความไม่มั่นคง หรือความเจ็บปวดในใจบางอย่าง

(ค) ชาชินกับความโหดร้ายจากความคุ้นเคยผ่านการได้พบเห็นการกระทำ ไม่ว่าในชีวิตจริงหรือผ่านสื่อจนยอมรับว่าความโหดร้ายเป็นเรื่องปกติ

2.จิตวิทยาจากสังคมและวัฒนธรรม 

(ก) สังคมที่เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องน่าชื่นชม ไม่ว่าผ่านภาพยนตร์ กีฬา พิธีกรรมประเพณี หรือสื่อต่างๆ ทำให้เห็นว่าความโหดร้ายเป็นเรื่องปกติ หรือแม้แต่เป็นความบันเทิง

(ข) แรงสนับสนุนหรือการยอมรับความโหดร้ายจากกลุ่มทำให้บุคคลหนึ่งกระทำความโหดร้ายเพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือไม่ถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

3.แง่มุมปรัชญาและคุณธรรม 

(ก) นักปรัชญาบางคนบอกว่าการมุ่งมั่นมีอำนาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด ความโหดร้ายเป็นการแสดงออกซึ่งความต้องการนั้น หากสังคมอ่อนด้อยเรื่องคุณธรรมที่ต่อต้านความโหดร้ายเมื่อใดก็จะปรากฏให้เห็นเมื่อนั้น

(ข) นักสังคมวิทยาบางคนบอกว่า คนปกติก็สามารถกระทำสิ่งที่โหดร้ายได้หากตกอยู่ใต้โครงสร้างอย่างเป็นระบบ ที่ต้องการให้สร้างสิ่งโหดร้าย และให้มันกลายเรื่องปกติ

4.ความบันเทิงจากความโหดร้าย ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ย้อนหลังกว่า 5,000 ปี นั้นความโหดร้ายเป็นความบันเทิงซึ่งอาจมาจาก

(ก) ความอยากรู้อยากเห็นความตาย การสังเกตเห็นความทนทุกข์ทรมานของผู้อื่นปลุกเร้าความคิดเกี่ยวกับการอยู่รอดของตนเอง เพราะไม่อยากอยู่ในสถานะนั้น

(ข) การเห็นความโหดร้ายจากระยะไกลสามารถสร้างความรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยจากความโหดเหี้ยมต่าง ๆ ของมนุษย์

5.ปัจจัยชีววิทยา

 (ก) ความก้าวร้าวและความโหดร้ายฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด และช่วยสร้างพลังอำนาจในการครอบงำทรัพยากรธรรมชาติ

(ข) สำหรับคนบางส่วนการกระทำความโหดร้ายเป็นรางวัลส่วนตัว เนื่องจากไปกระตุ้นการปล่อยสาร dopamine ซึ่งสร้างความรู้สึกพอใจใน ระยะสั้น

6.ลักษณะการเจ็บป่วยทางจิตวิทยา

 (ก) sadism บางคนได้รับความสุขจากการสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นซึ่งเป็นผลพวงจากความบกพร่องทางบุคลิกภาพ หรือ สภาพร่างกาย

(ข) การขาดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) ในบางกรณี เป็นผลพวงจากสิ่งแวดล้อม ลักษณะทางสภาพจิตฯลฯ

ความโหดร้ายนั้นกินความกว้างถึงการใช้คำพูดเชือดเฉือน เสียดสี บูลลี่ ประชดประชัน ฯลฯ นอกจากนี้ก็รวมถึงการกระทำทางอ้อมที่สร้างความเจ็บปวดอย่างจงใจอีกด้วย

ที่สำคัญคือ ความโหดร้ายในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงทางการกระทำและทางคำพูด เช่น การตบตี การละเลยการอบรมเลี้ยงดูที่ดี การด่าทอ การละเมิดทางเพศ ฯลฯ

ประเด็นที่น่าสนใจของบ่อเกิดแห่งความโหดร้าย ก็คือความคุ้นเคยเเละความเคยชินกับความโหดร้ายจนเกิดความเฉยชา เช่น การทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ที่อาศัยคนลงมือฆ่า หรือแม้แต่ผู้ที่เกี่ยวพันกับกระบวนการฆ่าสัตว์

ฆาตกรจำนวนไม่น้อยมาจากผู้ที่เกี่ยวพันกับการฆ่าและเห็นความโหดร้ายเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนมีโอกาส “โอนถ่าย” ความรู้สึกเหล่านี้ไปยังสังคมข้างนอก ผู้ที่เคยผ่านสงครามที่สู้รบกันรุนแรงในลักษณะฆ่าฟันกันใกล้ชิด ก็มักอยู่ในกลุ่มบุคคลที่เป็นปัญหาทางสังคมด้วย

สิ่งที่เชื่อว่าสามารถป้องกันเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความโหดร้าย ก็คือการป้องกันมิให้ประสบสิ่งแวดล้อมของความรุนแรง และความโหดร้ายจนเกิดความชาชิน ไม่ว่าในชีวิตจริงหรือจากการเล่นเกมออนไลน์ก็ตาม

การอบรมสั่งสอนเรื่องคุณธรรมโดยครอบครัวและโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวกำกับไม่ให้ “สัญชาตญาณดิบ” ในตัวมนุษย์เติบโตขึ้นมาได้

สิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ ได้แก่ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ชุมชน เพื่อน สื่อ สังคมระดับประเทศ ฯลฯ ต้องหล่อหลอมให้เยาวชนเห็นความโหดร้ายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นเรื่องของคน ป่าเถื่อน ด้อยพัฒนา ไม่อยู่ในกระแสนิยมของชาวโลก และเป็นเรื่องน่าอับอาย

ยารักษาสำคัญคือ “ความสามารถในการเข้าใจและร่วมในความรู้สึกกับผู้อื่น” หรือ empathy หลายคนอาจสงสารเห็นใจความทุกข์ยากของผู้อื่น (sympathy) แต่มิได้หมายความว่าจะมีความสามารถในการเข้าใจเเละร่วมความรู้สึกเหล่านั้นเสมอไป

สิ่งที่อาจเลวร้ายยิ่งกว่าการกระทำที่โหดร้ายครั้งหนึ่ง ก็คือการชื่นชม การยอมรับและการเห็นว่าความโหดร้ายเป็นเรื่องปกติ เพราะมันจะเป็นการสร้างนิสัยความโหดร้ายไปตลอดชีวิต คล้ายกับคำพูดที่ว่า “สิ่งที่เลวร้ายกว่าการกระทำความชั่วก็คือการชื่นชมและยอมรับคนที่กระทำความชั่ว”.