'กรมทางหลวงชนบท' ดันงบฯ 4.6 พันล้านบาท ลุยสร้างถนน 'อีอีซี'
กรมทางหลวงชนบท เร่งเข็นงบ 4.6 พันล้าน ลุยถนนสนับสนุนพื้นที่อีอีซี คาดภายในปี 2566 แล้วเสร็จอีกกว่า 48 กิโลเมตร พร้อมเดินหน้าเจรจาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จัดหาเงินกู้ภายในประเทศ เพิ่มโครงข่ายอีกกว่า 12 กิโลเมตร
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มาอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้แก่นักลงทุนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีโครงการที่ ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ อาทิ ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 บ้านห้วยโป่ง อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร, ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138 – ทล.344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.7 – ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 10.570 กิโลเมตร
อีกทั้ง ขณะนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก จำนวน 3 โครงการ รวมมูลค่าราว 4.6 พันล้านบาท ระยะทางกว่า 48 กิโลเมตร ประกอบด้วย ดังนี้ 1.ถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยก ทล.314 – ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ ระยะทาง 20.328 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 95 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 3,712 ล้านบาท
2.ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยก ทล.331 – ทล.3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 16.460 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 540 ล้านบาท
3.ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.2015 แยก ทล.36 – ทล.331 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 11.465 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 17 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 447 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทช.ได้จัดเตรียมแผนดำเนินโครงการก่อสร้างที่จะสนับสนุนอีอีซีอีก จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ชบ.3023 แยก ทล.315 – บ้านหนองปลาไหล อำเภอพานทอง,บ้านบึง จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 12.242 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 873 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เงินกู้ภายในประเทศดำเนินการแทนงบประมาณประจำปี ซึ่งจะเจรจากับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้