รัสเซีย-ยูเรเซียจ่อตัดจีเอสพีไทย ดีเดย์ 12ต.ค.นี้
รัสเซีย และอีก 4 ประเทศสมาชิกยูเรเซีย เตรียมตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย ตั้งแต่ 12 ต.ค.64 นี้ หลังพบไทยไม่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ ทำไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ และเสียเปรียบเวียดนามแน่ ด้านกรมการค้าต่างประเทศ ชี้กระทบส่งออกไทยไม่มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน ได้มีมติทบทวน และเพิกถอนประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป เพราะไทยไม่เข้าเกณฑ์การได้รับสิทธิ์ เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารโลก ได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน จากเกณฑ์ที่กำหนดคือ ประเทศที่จะได้รับจีเอสพี ต้องไม่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน หรือกลุ่มรายได้สูง ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก
โดยมติดังกล่าว ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป ไทยจะไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีจาก ยูเรเซียอีกต่อไป และหากจะส่งออกสินค้าไปยังยูเรเซีย จะต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (เอ็มเอฟเอ็น) จากในช่วงที่ได้รับจีเอสพี สินค้าที่ส่งออกจากไทยเสียภาษีนำเข้าต่ำเพียง 75% ของอัตราภาษีปกติ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น และเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ
อย่างไรก็ตาม แม้ในแต่ละปี ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปยูเรเซีย คิดเป็นมูลค่าไม่มากนัก แต่การถูกตัดสิทธิ จะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่ยังคงได้รับสิทธิ โดยเฉพาะคู่แข่งบางประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ และเวียดนาม ที่จะได้เปรียบมากยิ่งขึ้น เพราะสินค้าเวียดนาม ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ายูเรเซีย จากการที่เวียดนามมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับยูเรเซีย และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 59 อีกทั้ง คาดว่า สินค้าเวียดนาม จะครองส่วนแบ่งตลาดยูเรเซียเพิ่มขึ้นด้วย
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ยูเรเซีย ตัดสิทธิจีเอสพีประเทศไทย แต่ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยูเรเซียได้อยู่ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ จากการที่ได้รับสิทธิ เสียภาษีในอัตราต่ำ และน่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยูเรเซียมากนัก เพราะแต่ละปี ไทยส่งออกไปยูเรเซียคิดเป็นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม กรมจะหารือกับผู้ส่งออกไทย ในการเตรียมความพร้อมรองรับการถูกตัดสิทธิ หาแนวทางลดผลกระทบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย
สำหรับการทบทวนดังกล่าว เป็นการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งจะทำในทุกๆ 3 ปี และจากการปรับปรุงในครั้งนี้ ทำให้เหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากยูเรเซีย อยู่เพียง 29 ประเทศ จากก่อนหน้านี้ที่มี 103 ประเทศ และเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี 48 ประเทศ จาก 50 ประเทศ โดยประเทศที่ถูกตดสิทธิเช่นเดียวกับไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, และนอร์เวย์ โดยในแต่ละปี ไทยใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปรัสเซียประมาณ 100 กว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งปี 63 ไทยใช้สิทธิเพียง มี 133.92 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.81% จากปี 62 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 81.23% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ ส่วนในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 64 มูลค่าการใช้สิทธิ 19.79 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20.18% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.62% สินค้าที่ใช้สิทธิส่งออก เช่น สับปะรดกระป๋อง, ผลไม้และลูกนัต, เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง, มะนาว, ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น