“กยท.”ชี้มาเลเซียล็อกดาวน์ ไม่กระทบราคา-ส่งออกยาง

“กยท.”ชี้มาเลเซียล็อกดาวน์ ไม่กระทบราคา-ส่งออกยาง

กยท. แจงมาเลเซียล็อกดาวน์ ไม่กระทบส่งออกยาง หลังโรงงานถุงมือยังเปิดดำเนินการปกติ พร้อมส่งมอบยางในสต็อกล๊อตสุดท้าย รอ นอร์ทอีส ซื้อยางจากเกษตรกรอีกเท่าตัวตามเงื่อนไข ขณะแนวโน้มความต้องการตลาดโลกยังสูง หนุนทิศทางราคายังบวก

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูการเปิดกรีดยางปี 2564 ผลผลิตยางเริ่มออกสู่ตลาดบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก เนื่องจากภาคใต้ยังมีฝนตกชุก คาดว่าปริมาณน้ำยางจะเริ่มมากขึ้นในเดือน ก.ค. เป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกน้ำยางของไทย แต่ทางสมาคมถุงมือยางของมาเลเซีย ได้แจ้งว่า โรงงานถุงมือยางในมาเลเซียยังเปิดดำเนินการปกติ ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย  เช่นเดียวกับการปิดชั่วคราวโรงงาน 2 แห่งของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เนื่องจากตรวจพบแรงงานติดโควิด19 นั้น ไม่ส่งผลกระทบสถานการณ์ยางพาราของไทยเช่นกัน โดย กยท. ได้สั่งให้โรงงานของ กยท.เองเข้าไปรับซื้อปริมาณน้ำยางส่วนเกินที่บริษัทไม่สามารถรับซื้อได้ ประกอบกับน้ำยางในตลาดช่วงนี้มีน้อย ดังนั้นในภาพรวมจึงคาดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบกับราคายางในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา กยท. ได้ส่งมอบยางในสต็อก 1.04 แสนตัน ให้กับทางบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือการขนส่ง ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเอง พร้อมทั้งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือต้องรับซื้อยางจากเกษตรกรอีกเท่าตัวของยางในสต็อกด้วย ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และถุงมือยาง ดังนั้น กยท.ยังมองทิศทางราคายางในปีนี้ยังเป็นบวก

“สิ่งที่ผมกลัวคือเรื่องของ Panic อย่างถุงมือยาง มั่นใจว่า ไม่ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตถุงมือยางแน่นอนเพราะทุกขั้นตอนใช้เครื่องจักรและไวรัส มีวันหมดอายุ ดังนั้นการใช้ถุงมือยางยังปลอดภัย “

สำหรับราคากลางเปิดตลาด เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 67.00 บาทต่อกก. ส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 64.23 บาทต่อกก. ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 66.77 บาทต่อกก.

ภาพรวมราคาปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ประกอบกับการที่มีปริมาณยางออกสู่ตลาดมาก และมีการปิด โรงงานผลิตถุงมือยางในจังหวัดตรังและสุราษฎร์ธานีเป็นเวลา 3 วัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด - 19 ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก แต่ตลาดยางยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่มากขึ้นกระตุ้นให้การผลิตยางล้อและถุงมือยางเพิ่มขึ้น และนักลงทุนยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกต่อไป

ส่วนคาดการณ์ราคาในไตรมาสที่ 2/2564 คาดว่ายังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นไตรมาสอยู่ในช่วงปิดกรีด ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย และมีปัจจัยหนุน เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ตกชุกทำให้ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย ปริมาณสต็อกยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ โตเกียว ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถานการณ์ราคายางในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศทางเทคนิคทั้ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดล่วงหน้าโตเกียว เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ ราคายางในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศระยะยาวยังมีโอกาสอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ในระยะกลางอยู่ในช่วงย่อตัว  ส่วนกรณีที่Toyota และ Tesla กำลังเจรจาร่วมมือผลิตรถยนต์ SUV ไฟฟ้าขนาดคอมแพ็กต์ราคาถูก คาดว่าจะช่วยอุตสาหกรรมยางล้อมีโอกาสขยายตัว