ย้อนรอยคดี 'พรีอุส' เดิมพัน 'ภาษีหมื่นล้าน'
กรณีบริษัทโตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเม.ย.2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมาย
ต่อมา 7 พ.ค.2558 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ และคัดค้านการประเมินภาษีของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางในปี 2559 เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 93/2559 ระหว่างบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469
29 ก.ย.2560 ต่อมาศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีไม่ต้องรับผิดทางภาษีอากร ต่อมาราวเดือนมิ.ย.2561 กรมศุลกากร และ กรมสรรพากร อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และวันที่ 20 มี.ค.2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ(ที่ประชุมใหญ่ 70 ท่าน) มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้ โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ทั้งนี้ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ถึงที่สุดตามกฎหมาย ต้องห้ามฎีกา เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่ง 29 มี.ค.2564 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา
ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยคือ กรมศุลกากร ยื่นคำแก้ฎีกา ที่มีเวลาถึงวันที่ 13 ก.ค.2564 หลังจากนั้นศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป