แผนดึงต่างชาติลงทุนไม่คืบ ‘ศบศ.’ สั่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ เร่งเดินหน้า สร้างความชัดเจน
ศบศ.เคาะดึงต่างชาติกำลังซื้อสูง 4 กลุ่มลงทุนในไทย หวังเพิ่มการบริโภค บูทเศรษฐกิจ ช่วยเสริมการจ้างงาน นายกฯสั่งเร่งทำความชัดเจนหลังยังไม่มีรายละเอียดแผน ชี้ให้เวลาระยะหนึ่งแเล้วแผนยังไม่คืบ สั่ง "สุพัฒนพงษ์" เร่งประสานหน่วยงานสร้างความชัดเจน
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวันนี้ (4 มิ.ย.) ว่าที่ประชุมฯได้เห็นชอบกับข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกการลงทุนที่มี มล.ชโยทิต กฤดากร เป็นหัวหน้าคณะทำงานเสนอ ที่จะมีการทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้การลงทุน และเพิ่มโอกาสการจ้างงานภายในประเทศ
ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม Flexible Plus Program
2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional)
และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)
อย่างไรก็ตามในเรื่องการดึงการลงทุนและการดึงผู้มีรายได้สูงให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดที่ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ หลายประการ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินงาน ด้านต่าง ๆ และนำเสนอ ศบศ. พิจารณาต่อไป
“เมื่อมีการหารือถึงรายละเอียดพบว่ายังไม่มีความชัดเจนในแผนการชักจูงการลงทุน และกลุ่มที่มีรายได้สูงให้เข้ามาในประเทศไทยและมีข้อขัดแย้งกันในระหว่างหน่วยงานที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้นายกรัฐมนตรีรู้สึกไม่พอใจที่ยังไม่เห็นความชัดเจน หลังจากที่ให้เวลาไปทำแผนมาระยะหนึ่งแล้ว”แหล่งข่าวระบุ
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ศบศ.รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดที่เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2564 เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เทียบกับเดือนก่อนหน้าภายหลังจาก ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้วพบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตการเกษตรและดัชนีราคาสินค้า เกษตรขยายตัวส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ในเดือนเมษายน สอดคล้อง กับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันข้อมูลความถี่สูงในเดือนพฤษภาคม 2564 ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของการเดินทางภายในประเทศเพื่อออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับ การระบาดระลอกแรกในเดือนมีนาคม 2563 แต่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของการเดินทาง ภายในประเทศนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากการไม่พบผู้ติดเชื้อในในพื้นที่หลาย จังหวัดส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในจังหวัดดังกล่าวมากขึ้น