เปิดมาตรการ 9 แบงก์ ช่วยลูกหนี้ ‘ธุรกิจ’

เปิดมาตรการ 9 แบงก์ ช่วยลูกหนี้ ‘ธุรกิจ’

เปิดมาตรการช่วยลูกหนี้ธุรกิจ 9ธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก3

     ภายใต้วิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 ระลอก 3 ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3  

       โดยเฉพาะ ภาคธุรกิจที่ขาดรายได้ บางรายกระทบหนักจนถึงขั้นปิดกิจการ เลิกจ้างจำนวนมาก ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้าไปช่วยเยียวยาภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ผลกระทบลามหนัก จนเกินเยียวยา 

         ล่าสุดภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถือว่ามีความพยายามอย่างหนักในการเข้าไปเยียวยาผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะ “ธปท.” ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ผลักดันมาตรการ ไปสู่ธนาคารพาณิชย์ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจอย่างทันท่วงที 

        วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ”ได้มีการรวบรวมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ จาก 9ธนาคารพาณิชย์หลักๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เป็นแนวทาง และศึกษา ในการรับความช่วยเหลือในระยะต่อไป ทั้งด้านสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะภาระเงินกู้ ในช่วงที่ค่าใช้จ่ายหดหายจากโควิด ระลอก3  

       เริ่มต้นที่ ธนาคารกสิกรไทย’ KBANK ที่ได้ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ โดยล่าสุดธนาคารได้เพิ่ม สภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจ ผ่าน 2 มาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 

        มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เหมาะสำหรับลูกค้าที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ แต่มีรายได้ลดลงและขาดสภาพคล่อง โดยลูกค้าปัจจุบันจะกู้ได้สูงสุด 30% ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่มีอยู่กับธนาคารกสิกรไทย และลูกค้าใหม่จะขอกู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย นานสูงสุด 24เดือน  

       โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก โดยเฉลี่ย 5 ปี อัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 5% ฟรีดอกเบี้ย6 เดือนแรก และฟรีค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้  

       มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing คือมาตรการรับโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้ธุรกิจ โดยลูกค้ายังมีสิทธิ์เช่าทรัพย์นั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อได้ และมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืน ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง และรักษาการจ้างงานของธุรกิจ โดยลูกค้าธุรกิจที่เหมาะเข้าร่วมมาตรการนี้ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ขนส่ง ร้านอาหารที่รับนักท่องเที่ยว เป็นต้น   

       โดยธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ คาดว่าจะสามารถช่วยลูกค้าธุรกิจได้กว่า 10,000 ราย โดยเน้นช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการรายย่อย  

       ซึ่งลูกค้า สามารถติดต่อรับการช่วยเหลือได้ ผ่าน K-BIZ Contact Center 02-8888822 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทาง LINE KBank Live 

       ด้าน ‘ธนาคารกรุงไทย’ KTB ได้ออก 5 มาตรการ เพื่อช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่เช่นกัน โดยตั้งเป้าความช่วยเหลือรวม 9 หมื่นล้านบาท 

       แต่หากแยกเป็นมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มี 2 มาตรการ ผ่านมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ 2มาตรการ ประมาณการความช่วยเหลือรวมกว่า 3หมื่นล้านบาท  

  1. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2ปีแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี

       โดย เปิดกว้างให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง) 

      ขณะที่ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้  เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต

      ในราคาต้นทุนรับโอนบวกค่าธรรมเนียมCarrying Cost 1 % และบวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนและการโอนคืนกลับให้ลูกค้า

      สําหรับลูกค้าที่มีความประสงค์โอนทรัพย์สินเพื่อชําระหนี้ ต้องมียอดสินเชื่อธุรกิจคงเหลือกับธนาคาร ณ 28กุมภาพันธ์ 2564 และ ไม่เป็น NPL ณ 31 ธันวาคม2562  รวมทั้งทรัพย์สินที่โอนต้องเป็นหลักประกันกับธนาคารก่อน 1 มีนาคม 2564  

    สำหรับลูกค้าบุคคลที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้จนถึง 31 ธันวาคม2564 ผ่านเว็บไซต์ https://krungthai.com/link/retail-covid19 และลูกค้าธุรกิจที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ศึกษารายละเอียดได้ที่      

       https://krungthai.com/link/business-covid19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ หรือ Krungthai Contact Center  02-111-1111    

      ด้าน ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ SCB ได้มีการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือเอสเอ็มอีก้าวพ้นวิกฤตเร่งด่วนตั้งเป้าหมายปล่อยซอฟต์โลน20,000 ล้านบาท ต่อสายป่านผู้ประกอบการทั่วประเทศ  

       ครอบคลุมทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีในปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ รวมกว่า 8,500 ราย พร้อมเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีในการจัดการธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันในที่สุด 

       ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารได้เริ่มเปิดให้สินเชื่อซอฟต์โลนในรอบนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน2564 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วกว่า 4,700 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 6,000 ล้านบาท  

       ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสงค์ขอซอฟต์โลนตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะต้องไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  โดยกำหนดคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละกลุ่มดังนี้ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีปัจจุบัน ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอซอฟต์โลนได้สูงสุด 30%ของวงเงินสินเชื่อเดิม สูงสุด 150 ล้านบาท 

        สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารทุกแห่ง สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมทุกวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ลูกค้าทั้งสองกลุ่มจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา พร้อมได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา 

         กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 10 ปี และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ Front End Fee นอกจากนี้ สินเชื่อภายใต้โครงการได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) เป็นระยะเวลา10 ปี

        พร้อมทั้งลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี 

         โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่สามารถขอเข้าร่วมมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 27เมษายน 2564 เป็นต้นไป ที่สาขาธนาคารไทยพาณิชย์ทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Business Call Center โทร.02 722 2222 หรือที่ https://scbsme.scb.co.th/ 

          ด้านธนาคารกรุงเทพ’ BBL ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่ 3 ธนาคารกรุงเทพได้เร่งออกไปพบลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจทั่วประเทศ  

       โดยมุ่งหวังให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วทันสถานการณ์ ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าในการปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้านบาทจากมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ  

      ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและพนักงานของตนเองได้ 

         ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตสินค้าให้ได้ครบตามคำสั่งซื้อ ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในเรื่อง Working Capital 

        และช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงBusiness Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป  

         เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อประคับประคองให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้  

      โดยมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง สำหรับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์2564  

      ซึ่งสามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก.) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท 

       โดยนับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ในช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี ทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง  

       ขณะเดียวกันธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบธุรกิจให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากในเวลานี้  

       อีกทั้ง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75%ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน 

        ในส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคาร ตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืน ภายใน 3-5 ปี 

       สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของธนาคารกรุงเทพ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ หรือสาขา หรือสำนักธุรกิจของธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  

        รวมถึงติดตามข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจของธนาคาร ได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพทุกช่องทาง ได้แก่www.bangkokbank.com, Bangkok Bank LINE Official หรือ โทร.1333 หรือ 0 2645 5555 

          ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา’ BAY ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญความยากลำบากจากผลกระทบของการแพร่ระบาด ธนาคารต้องการช่วยลูกค้าให้สามารถพาธุรกิจผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้  

        ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมทั้งช่วยเหลือด้วยมาตรการเพิ่มเติมจากกรุงศรีเอง สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ เช่น 2 พัก 3 ปรับ คือ พักชำระเงินต้น พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระ  ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ   

       พร้อมทั้งช่วยปรับแผนธุรกิจให้ลูกค้า และช่วงที่ 2 เมื่อลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตมาได้หรือได้รับผลกระทบน้อย กรุงศรีก็มีสินเชื่ออื่นๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

       เช่น สินเชื่อ SME Quick Loan เป็นสินเชื่อระยะยาวแบบมีหลักประกัน ให้วงเงินสูงสุดถึง 15 ล้านบาท  ดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี 2 ปีแรก  เลือกผ่อนชำระได้ยาวถึง 10 ปี สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา 

        นอกจากความช่วยเหลือทางการเงิน กรุงศรียังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเจรจาจับคู่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Krungsri Business Virtual Matching) และกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว พร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนไป 

       โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไปแล้วกว่า 30,000 ราย เป็นยอดสินเชื่อกว่า 200,000 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ปัจจุบัน  ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ลูกค้าสินเชื่อยานยนต์ ลูกค้าบัตรเครดิตผ่านมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วรวมกว่า 228,984 บัญชี (ตัวเลข วันที่ 31 มีนาคม 2564)

      สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 สามารถติดต่อได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าของธนาคาร หรือ Krungsri Business Center 02-2966262, 02-6262626

        ด้าน ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต’ หรือ ทีทีบี (ttb)ก็มีหลายมาตรการ ในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มาตรการแรก คือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing)   

        ซึ่ง เป็นมาตรการที่เปิดให้ลูกค้าสามารถนำทรัพย์มาพักไว้กับธนาคาร แต่ยังสามารถเช่ากลับไปบริหารเพื่อสร้างรายได้

        มาตรการนี้จะช่วยตัดภาระทางการเงินในปัจจุบันและให้ลูกค้าสามารถซื้อคืนหลังจากสถานการณ์เป็นปกติ ซึ่งจะเหมาะกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่แนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวอาจจะใช้เวลาอีกนาน ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 

       นอกจากนี้ ยังมี มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (Special Loan) เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากซอฟต์โลนในรอบที่แล้ว แต่เปิดกว้างขึ้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงปริมาณสินเชื่อได้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังดำเนินต่อได้และต้องการสภาพคล่อง ด้วยมาตรการนี้ลูกค้าสามารถจ่ายดอกเบี้ยในราคาต่ำแต่สามารถผ่อนชำระในระยะเวลานานขึ้น 

       โดยตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการจนถึง ปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไปแล้วกว่า 2,000 ราย รวมเป็นวงเงินกว่า 3,600 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะปล่อยสินเชื่อจากมาตรการนี้ให้กับผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท 

       อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 มาตรการนี้ ไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่จะเหมาะกับทุกธุรกิจ ทางทีเอ็มบีธนชาตเอง มีโครงการ “ตั้งหลัก” ซึ่งประกอบไปด้วยความช่วยเหลือหลายประเภท ที่จะเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป ทั้งลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดใหญ่  

        สำหรับลูกค้าธุรกิจนั้น เนื่องจากไม่ใช่ทุกมาตรการจะเหมาะกับลูกค้าทุกราย จึงแนะนำให้เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารแนะนำมาตรการที่เหมาะสม สำหรับแก้ปัญหาของธุรกิจได้ตรงจุดและไม่เกิดภาระในระยะยาว 

       ลูกค้าที่สนใจมาตรการดังกล่าว สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ โครงการ “ตั้งหลัก” ในเว็บไซต์ของธนาคาร www.ttbbank.com/th/tang-luk หรือ สอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจของท่าน หรือศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต โทร. 0 2643 7000 วันจันทร์ถึงวันเสาร์  08.00 – 20.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุด 

      ขณะที่ ธนาคาร เกียรตินาคินภัทร’ KKP ชูหลักการ ‘We DO – We CARE – We SHARE’ รับโควิด-19 ระลอกสาม ในการช่วยเหลือลูกหนี้  เช่นผ่าน We CARE: คือการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารก็มีการปรับใช้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ครอบคลุมการลดค่างวด  

        รวมถึงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ , การพักชำระค่างวด) มาตรการซอฟต์โลน มาตรการชะลอชำระหนี้ตามพระราชกำหนด (Loan Payment Holiday) รวมทั้งกำลังเริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ตามสถานการณ์และความจำเป็นของลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย  

        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในทุกประเภทสินเชื่อคิดเป็นกว่า 40%ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร  

        ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรทุกช่องทาง ได้แก่ https://bank.kkpfg.com, Kiatnakin Phatra Line Official หรือ KKP Contact Center โทร. 02 165 5555  

        ด้านธนาคารทิสโก้’TISCO ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้   

        สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะมุ่งให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินกิจการ แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีรายได้ลดลงและขาดสภาพคล่อง  

         โดยจะให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจกับธนาคารทิสโก้ และลูกค้ารายใหม่ด้วยการให้เงินกู้เพิ่ม และปรับอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ โดยลูกค้ารายเดิมจะกู้ได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม และลูกค้ารายใหม่กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2%ใน 2 ปีแรก และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน5% 

       โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ในระยะ 6เดือนแรก ไม่มีค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้ และค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 1.75%ต่อปี ตลอด 5 ปี  

         ขณะที่ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing จะมุ่งช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว

        โดยการหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐาน ด้วยการให้สิทธิชำระหนี้ โดยการโอนทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และสามารถใช้สิทธิในการซื้อทรัพย์ดังกล่าวคืน ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า  

        ในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้น ธนาคารจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคาร โดยพิจารณาจากผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ และศักยภาพที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเป็นสำคัญ  

     สุดท้ายคือ ‘ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’LHFG โดยธนาคารได้ ช่วยลูกค้าธุรกิจต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่างๆดังนี้  

      การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับรายจ่ายที่จำเป็น 

       สำหรับ soft loan เงื่อนไขเป็น ระยะเวลา 5 ปี2 ปีแรก 2% ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ให้ลูกค้ากู้เพิ่มได้ 20% ของวงเงิน ซึ่งทำให้ได้วงเงินสูงขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า และเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง  

     ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีของท่าน เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1327