ธปท.ยันไม่ลดเงินนำส่งแบงก์เข้า FIDF เหลือ0% เหตุมีภาระดอกเบี้ยต้องจ่าย
ธปท.ยันโอกาสลดเงินนำส่งแบงก์เข้า FIDF เหลือ 0% ยาก เหตุมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่อาจพิจารณาขยายลดเงินนำส่งต่อไป จากเดิมหมดสิ้นปีนี้ หวังการขยายมาตรการพักหนี้ มีส่วนช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอีเพิ่ม คาดแนวโน้มหนี้เสียไม่ขยับก้าวกระโดด
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ล่าสุดธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการขยายอายุ การลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้
โดยมีโจทย์ในการพิจารณาในการขยายการลดเงินนำส่ง คือต้องดูว่า ต้นทุนที่ลดลงของสถาบันการเงินเหล่านี้ สถาบันการเงินจะมีกลไก หรือการส่งผ่านต้นทุน ไปช่วยลูกหนี้อย่างไร
แต่เชื่อว่า คงไม่สามารถลดเงินนำส่งจาก 0.23% ไปสู่ 0% ได้ เนื่องจากเงินนำส่งดังกล่าวต้องส่งกระทรวงการคลัง อีกทั้งยังมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่
ขณะเดียวกัน วานนี้ ธปท.ได้มีการขยายมาตรการพักหนี้ หรือชะลอหนี้สำรหับเอสเอ็มอี ออกไปเป็นสิ้นปีนี้ จากเดิมที่จะครบกำหนดใน30มิ.ย
รวมถึงธปท.ได้ขยายการช่วยเหลือไปยังเอสเอ็มอีในกลุ่มอื่นๆ ตามนิยามของสถาบันการเงินด้วย จากเดิมที่กำหนดการพักหนี้เฉพาะเจาะจงเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทเท่านั้น แต่จากโควิด-19ระลอก 3 ที่มีผลกระทบรุนแรง
ธปท.ก็หวังว่า การขยายมาตรตการดังกล่าวน่าจะสามารถช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และกลุ่มที่ยังไม่มีกระแสเงินสดมาชำระหนี้ได้
“อยากย้ำว่า ปัจจุบันฐานะการดำเนินงานของแบงก์เข้มแข็ง เงินกองทุนและสำรองอยู่ระดับสูง สภาพคล่องมีเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างมีคุณภาพ ให้อยู่รอดภายหลังโควิด ดังนั้นการพักต้นพักดอกเบี้ย อาจเป็นการช่วยที่เป็นชั่วคราวที่อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นอยากเห็นการกระตุ้นให้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืนอยู่รอดได้ ดังนั้นมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงรายได้ในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ”
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ของกลุ่มเอสเอ็มอีปัจจุบัน ยอมรับว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบที่หนักขึ้น แต่บางกลุ่มเริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่นอุตสาหกรรมส่งออก แต่กลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบที่หนักอยู่ คือกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งที่ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก
ดังนั้น คาดว่าแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นบาง โดยเฉพาะในกลุ่ม ท่องเที่ยว บริการ แต่เอ็นพีแอลจะไม่ขยับขึ้นก้าวกระโดด เพราะปัจจุบันนมีการช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการเสริมสภาพคล่อง เหล่านี้จะช่วยบรรเทาและช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับภาระหนี้ให้ลูกหนี้ได้
ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า หากดูการช่วยเหลือผ่านมาตรการพักหนี้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบัน ลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้กลับมาชำระหนี้ปกติแล้วถึง 65% ขณะที่ราวกว่า 30% ได้ เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อยแล้ว และอีกราว 2% ได้อยู่ระหว่างเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่ามิ.ย.น่าจะเสร็จสิ้นได้
แต่จากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรง ส่งผลให้ธปท.ตัดสินใจขยายการพักหนี้ออกไป และให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีที่มีวงเงินมากกว่า 100 ล้านบาทด้วย เพราะมองว่า จากผลกระทบรอบนี้ เอสเอ็มอีน่าจะมีความเดือนร้อนมากขึ้น
ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าโครงการได้ทั่วถึง จึงให้ใช้นิยาม “เอสเอ็มอี”ของแต่ละแบงก์ด้วย ซึ่งหลักๆจะทำให้แบงก์ยังคงจัดชั้นลูกหนี้ได้ถึงสิ้นปีนี้ ทำให้เอสเอ็มอีจะไม่ถูกดอกเบี้ยปรับและการผิดนัดชำระ และมีประวัติในบริษัทเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโรด้วย
ส่วนการให้แบงก์สามารถกลับมาจ่ายปันผลระหว่างกาลได้ แต่ยังคงอัตรการจ่ายเงินปันผล โดยไม่เกินปี 2563 และไม่เกิน 50% ของครึ่งปีแรก 2564
เช่น หากสถาบันการเงินมีกำไร 100 ล้านบาท แบงก์จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 50ล้านบาท และต้องไปดูว่า ที่ผ่านมา จ่ายเงินปันผลได้แค่ไหน หากจ่ายอยู่ที่ 30% การจ่ายปันผลระหว่างกาลก็ต้องไม่เกิน 30% เท่านั้น รวมถึงครั้งนี้ยังคงนโยบายกรซื้อหุ้นคืน และการไถ่ถอน เว้นแต่ ไถ่ถอนเพื่อออกทดแทนเดิมก็สามารถทำได้